(ตอนจบ)
เมื่อ นายมัส พุทธรัตน์ ได้ก้าวเข้าเป็นหนึ่งในชาวปาล์มน้ำมันอย่างเต็มตัวแล้ว
ทำให้มีสิทธิออกปากออกเสียงต่างๆได้มากขึ้น
รวมทั้งการเรียกร้องให้มีการประกาศเขตส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทุ่งรังสิตนี้ด้วย
หลังจากเหล่าชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตเดินเรื่องเองอยู่นาน ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวหรือคืบหน้าเลย
ทำให้ต้องรวมตัวกันแล้วยื่นเรื่องถึง ดร.ไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปทุมธานี ให้ช่วยดำเนินเรื่อง
นายมัส พุทธรัตน์ |
“ในช่วงเริ่มแรกปัญหาที่เจอคือ
พื้นที่ที่จะได้รับการประกาศเขตต้องมีการทดลองปลูกมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี ถึงจะเริ่มประกาศได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ได้รับความอนุเคราะห์จาก
กรมส่งเสริมฯ เข้ามาดูแลให้องค์ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการปลูกปาล์ม การจัดการดูแล
มีกรมพัฒนาที่ดิน เข้ามาช่วยดูแลการปรับปรุงดิน ตรวจสอบดิน
ตลอดจนส่งเสริมให้สวนส้มร้าง เป็นสวนปาล์มให้ได้ สุดท้ายเราทำสวนปาล์มและเก็บผลผลิตได้ดี
สม่ำเสมอในทางกลับกันยิ่งผลผลิตมากขึ้นเมื่ออายุปาล์มมากขึ้นด้วย
นี้คือสิ่งการันตีคุณภาพของเรา แต่ก็ถูกเมินและยังไม่ได้รับการประกาศสักที
จนยื่นเรื่องถึงท่าน สว.ไพบูลย์
ให้เข้ามาดูแลซึ่งท่านก็ได้รับเรื่องไว้แล้วมีการเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องบ่อยครั้งที่รัฐสภาบ้าง
หรือแม้แต่ลงพื้นที่เข้าร่วมการประชุมของชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตด้วยตัวเองบ้าง
ท่านเป็นแกนนำหลักในการผลักดันให้เกิดการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันในเขตทุ่งรังสิตจนได้”
เฮียมนัสเล่าให้ฟังต่ออีกว่า
ข้อเท็จจริงในความล่าช้าที่เกิดขึ้นเมื่อพิจารณาจริงๆแล้ว
ขึ้นอยู่กับตัวของเกษตรกรเองด้วย
ในครั้งแรกทางชมรมได้ดำเนินเรื่องเรียกร้องให้ได้รับประกาศเขต
นั่นหมายถึงประกาศให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมทั้งหมดในเขตทุ่งรังสิต หรือ หนองเสือ
ต่อมาเมื่อมีการพิจารณาพื้นที่ในแต่ละที่มีความแตกต่างกันออกไปมาก
บ้างก็สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมดินเป็นกรด – ด่างเกินไป ยังไม่ได้รับการปรับปรุง
บ้างก็เป็นพื้นที่ที่ทำขึ้นมาใหม่จากเดิมอาจเคยปลูกข้าวมาก่อนเมื่อเห็นปาล์มราคาดีจึงปรับพื้นที่มาปลูกปาล์มเป็นต้น
ดังนั้นทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงพิจารณาให้เป็นรายแปลง
โดยแปลงที่จะได้รับการประกาศนั้นจะต้อง ตรวจวัดความเป็นกรด – ด่างของดีซึ่งมีค่า PH ของดินต้องอยู่ที่ 4 ขึ้นไป
แปลงดังกล่าวต้องเป็นแปลงสวนส้มเดิม
และเกษตรกรต้องได้ยื่นเจตนาว่ามีความประสงค์จะปลูกปาล์มในพื้นที่สวนส้มร้าง
ทั้งนี้ในกรณีพื้นที่ที่เป็นที่นา หากแต่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี
จนไม่สามารถทำนาได้ หรือ ทำแล้วขาดทุนก็สามารถยื่นความจำนงได้
จากนั้นทางคณะกรรมการจะพิจารณาเป็นลำดับต่อไป
ปัญหาที่ก่อให้เกิดความล่าช้าอีกประการคือ
หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลของเกษตรกรแล้วเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เตรียมส่งเรื่องต่อ
ซึ่งบางครั้งขาดข้อมูลเรื่องโน้น เรื่องนี้ต้องลงพื้นที่เก็บเพิ่มเติม
แต่เมื่อเก็บข้อมูลเสร็จก็ไม่ได้มีการประชุมเรื่องถูกดองไว้
เมื่อมีการกระตุ้นจากเกษตรกรขึ้นมาก็เริ่มใหม่อยู่อย่างนี้
จากการประชุมกันมาหลายครั้งทำให้สิ่งที่พวกเขาหวังไว้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
โดยมีบางพื้นที่ได้รับประกาศเป็นรายแปลงไปแล้วหลังจากที่รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน
โดยไม่ต้องรั้งรอแปลงที่ยังมีข้อมูลไม่พร้อม
ทั้งนี้เพื่อให้คนที่พร้อมได้ลุยหน้าทำสวนปาล์มกันได้อย่างเต็มที่และมีรายได้จากการขายผลผลิต
จนผ่อนผันหนี้สินได้
ในที่สุดแล้วจากการร่วมมือของทุกฝ่ายที่เอาจริงเอาจังขึ้นมาภายใต้การผลักดันของ
สว. ไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ทำให้ได้รับความสำเร็จในที่สุด
“สำหรับทางกรมส่งเสริมยังคงให้ความช่วยเหลือด้วยดีมาโดยตลอด
โดยเฉพาะอาจารย์ศักดิ์ศิลป์เป็นตัวยืนอยู่แล้วเช่น
เวลาเรามีปัญหาอย่างนี้เราโทรหาแกได้ตลอด เราทะเลาะกันในที่ประชุมเป็นธรรมดาพอออกจากห้องประชุมก็คือพี่กับน้องอาจารย์กับลูกศิษย์
ในที่ประชุมถ้าท่านพูดอยู่ฝ่ายเดียว เราเข้าไปครับผมอย่างเดียว ไม่แย้งเลย
มันเป็นไปไม่ได้ ท่านก็จะหลงผิดอยู่ตลอดเข้าใจเกษตรกรผิดตลอด
พอเราออกจากห้องประชุมนี้เหมือนพี่กับน้องคือเราไม่ใช่นักการเมืองเราเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ต้องอาศัยกรมส่งเสริม
กรมวิชาการ สำนักงานเศรษฐกิจเกษตร
แต่ถ้าเราปล่อยให้เขาคิดเองมันไม่ถูกต้องให้ชาวหนองเสือคิดบ้าง
ให้เราเป็นคนรู้จักคิดบ้างไม่ใช่ให้เราตามอย่างเดียวมันไม่พัฒนาหรอก”
อดีตเซียนส้มฟันธงทำสวนปาล์มไม่ใช่เรื่องยาก
หลังจากทุกเรื่องราวผ่านไปได้ด้วยดีแม้จะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินเรื่องนานกว่า
4 ปี
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนกำลังมองพร้อมทั้งตั้งโจทย์วิเคราะห์ตามในใจคือ
ชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตใช้กลยุทธ์ใดเข้ามาจัดการบริหารสวนจนได้ผลผลิตต่อไร่ที่ได้ผลดีเกินคาดเมื่อเปรียบเทียบผลผลิตเฉลี่ย/ไร่/ปี
ทั้งประเทศ ทั้งๆที่พวกเขาเป็นมือใหม่สำหรับปาล์มน้ำมัน
จนในที่สุดผู้เขียนก็อดที่จะถามออกไปไม่ได้
“เราคือเกษตรกรตัวจริง
ไม่ใช่มือใหม่ ปาล์มอาจจะใหม่สำหรับเรา แต่ว่าการปลูกส้มก็อยากนะ
ราชการบอกเราว่าดินเหนียวไม่สามารถปลูกส้มได้แต่เราก็ทำมาได้ตั้ง 30 ปี
และสำหรับการปลูกปาล์มนี้ หากใช่หลักวิชาการ เราอาจจะไม่เข้าใจ
แต่ว่าการบริหารจัดการเราพร้อม เราบริหารจัดการสวนส้มได้
เพราะองค์ความรู้เกษตรกรสวนส้มปุ๋ย – ยา PH
ดินหรือแม้กระทั้ง PH ของน้ำ ความเค็มน้ำ เรามีความรู้
เรามีเครื่องวัดตลอด การปรับปรุงดิน การดูสภาพดิน องค์ความรู้เราเพียบอยู่แล้ว
คุยกับใครไม่แพ้ แต่จะให้มานั่งวิเคราะห์น้ำหนักต่อทะลาย ควรใส่ปุ๋ยต่อต้นเท่าไร
อันนั้นเราอาจจะยังไม่รู้ แต่มันไม่ใช่ปัญหา เราเป็นเกษตรกรมาทั้งชีวิตนะครับ
บางคนอายุ 70 ก็ยังปลูกปาล์ม เพราะปลูกส้มมาแต่อายุ 20 อย่างผมนี้ทำส้มมาตั้งแต่ปี 2519 ตอนนี้อายุ
59 แล้วเรื่องไม่มีความรู้ เรื่องขาดประสบการณ์ไม่ใช่
และเราบริหารจัดการเรื่องคนงานแรงงานได้ ดังนั้น
ผมมั่นใจว่าอดีตชาวสวนส้มทุกคนไม่วิตกหรอกหากจะทำสวนปาล์ม”
สุดท้ายเหมือนเป็นทำเนียมที่ผู้เขียนจะถามแบบเจาะใจเพื่อให้คู่สนทนาได้กล่าวความในใจผ่านไปถึงบุคคลที่ร่วมงานด้วยเมื่อครั้งเดินเรื่องเรียกร้องการประกาศเขต
ที่อาจจะมีกระทบกระทั่งกันบ้างพอสมควร
ซึ่งเฮียมนัสก็เผยความในใจว่าเขามีความรู้สึกเกรงใจ ทีมงาน หน่วยงาน
หรือบุคลที่เข้ามาช่วยส่งเสริมผลักดันเรื่องดังกล่าว อย่างเช่น ดร.ไพบูลย์
ซำศิริพงษ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปทุมธานี, ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน,
กรมส่งเสริมการเกษตร, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดทุกส่วน
“ทุกท่านที่เข้ามาช่วย
หากผมได้ล่วงเกิน ล่วงล้ำ บางทีพูดต่อว่า หรือทำอะไรที่เป็นการกระทบจิตใจท่าน
ผมก็ขอโทษทุกภาคส่วน แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ผมถือว่าทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง
จะอ้างว่าสำนักงานการเกษตรกรมส่งเสริมฯ กรมวิชาการฯ กรมพัฒนาที่ดิน
เข้ามาช่วยเกษตรกร ผมว่าไม่ใช่ แต่มันเป็นหน้าที่ของท่านต้องเข้ามาดูแล
เมื่อมีหน้าที่ทุกคนก็ต้องทำตามหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดที่ได้รับมอบหมาย
เมื่อเข้าประชุมเราก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า ตามหลักการ ผมเข้าไปนั่งในกรรมาธิการ
ผมก็ต้องต่อสู่ดิ้นรนเพื่อที่จะให้ได้เป็นแปลงส่งเสริมขึ้นมา
ผมก็ต้องทำหน้าที่ผมดีที่สุด แต่ออกมาจากที่ประชุมแล้ว เราก็พี่กับน้องไม่ได้มีความโกรธแค้นขุ่นเคืองในหัวใจยังเคารพยกมือไหว้ตามอาวุโส”
สิ่งสุดท้ายอันทรงคุณค่าที่ได้มาหาใช้เพียงชัยชนะเพียงอย่างเดียว
หากแต่รายละเอียดระหว่าระยะเวลากว่า 4
ปีสอนให้หลายคนที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้อย่างเต็มอิ่ม
ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา ความสมัครสมานสามัคคี ความมีน้ำใจ
การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด หน้าที่ที่แต่ละคนพึงกระทำ
ตลอดจนความผูกพันฉันท์พี่น้อง ญาติมิตรได้ก่อตัวขึ้นมา
สุดท้ายได้มาซึ่งความสำเร็จที่มีค่ายิ่ง
ผลักดันให้มีการทำปาล์มคุณภาพเพื่อให้เกิดการซื้อขายอย่างเป็นธรรมด้วยเปอร์เซ็นต์น้ำมัน
หลังจากประสบความสำเร็จในเรื่องของร้องขอเป็นพื้นที่ส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันแล้ว
แม้ว่าจะได้รับการประกาศแบบรายแปลงก็ตามที
และยังคงมีอีกหลายแปลงที่ยังไม่ได้รับการประกาศแต่ก็คงไม่นานเพราะคณะทำงานก็เร่งดำเนินงานกันอย่างเต็มที่
แกนนำชาวสวนปาล์มอย่างเฮียมนัสเผยว่าภาระต่อไปที่ทางกลุ่มกำลังช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์แก่ชาวสวนปาล์มที่ไม่ใช่เฉพาะในเขตทุ่งรังสิต
แต่จะสะท้อนไปถึงชาวสวนปาล์มน้ำมันทั้งประเทศ นั่นคือ
การร่วมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ผลิตปาล์มที่ได้คุณภาพเข้าสู่โรงงาน
เพื่อให้ได้มาซึ่งราคาที่จะสูงขึ้นตามคุณภาพของเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สกัดได้
นั่นหมายถึงการผลักดันให้เกิดการซื้อขายอย่างเป็นธรรมด้วยเปอร์เซ็นต์น้ำมัน
“เมื่อเราได้รับเป็นแปลงส่งเสริมแล้ว
เราก็จะผลักดันรวมกลุ่มกันให้มีความเข้มแข็ง เพื่อผลิตปาล์มคุณภาพเข้าโรงงาน
มีอำนาจในการต่อรองราคา ที่มาจากคุณภาพของผลผลิตปาล์มอย่างแท้จริง ทางโรงงานรับซื้อผลผลิตปาล์มทะลายเราไป
นำไปเข้ากระบวนการหีบแล้วมาบอกเราว่าสกัดได้ 14 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องตั้งราคารับซื้อเท่านี้ เราไม่เชื่อเมื่อ
กรมส่งเสริมการเกษตรเขารับพันธุ์ปาล์มมาแจกจ่ายให้เกษตรกร
พันธุ์ปาล์มทุกต้นต้องมีคุณภาพ
รวมไปถึงคุณภาพในการให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันเมื่อตัดสุกเต็มที่ด้วย
แล้วมาบอกว่าเราทำไม่ได้โดยอ้างว่า เกษตรกรรดน้ำ เก็บไม่สุก มันเป็นไปไม่ได้
จะแทงปาล์มอ่อนไปทำไม ในเมื่อปาล์มสุกมันได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เพียงแค่ 5 วัน น้ำหนักก็เพิ่มขึ้นเป็นกิโลแล้ว สมมติกิโลละ 5
บาทก็ทำให้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 5 บาท/กิโล
แบบนี้ทำไมเกษตรกรไม่เอา จะรีบแทงทะลายน้ำหนักยังไม่ได้ไปขายทำไม”
การต่อสู่เพื่อความอยู่รอดของชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตไม่ได้หมดเพียงแค่ได้รับประกาศส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมัน
หากแต่ต้องต่อสู้ด้านคุณภาพผลผลิต ที่ส่งผลต่อราคาซื้อขาย
หลังจากมองดูแล้วคงเกิดปัญหาต่อไปหากยังนิ่งดูดายกันเช่นเดิม
คอยจับตามองว่าพวกเขาจะเดินหน้ากันอย่างไร
แล้วผู้เขียนจะเกาะติดสถานการณ์แล้วนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง
ข้อมูลจาก : นิตยสารพืชพลังงาน ฉบับที่ 49/2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น