Translate

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การปลูกมันด้วยระบบน้ำหยด ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และ คุ้มทุน จริงหรือ?


คอลัมน์ : คนสร้างมัน

โดย : นัตเขต  ตันปิง  ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรนาบ่อคำพัฒนา  จำกัด

               วันนี้ผมทีมงานคนสร้างมันจะพาพี่น้องเข้าไร่มันสำปะหลังอีกแล้วครับ  เพราะเป็นหน้าที่หลักของคนสร้างมันอยู่แล้ว  วันนี้เราจะพาพี่น้องไปดูไร่มันสำปะหลังของ ป้ามะลิ  ม่านมูล  สมาชิกสหกรณ์การเกษตรนาบ่อคำพัฒนา  จำกัด  โดยการบริหารงานของผู้จัดการสหกรณ์ฯนัตเขต  ตันปิง  ที่มีแนวคิดที่ว่า 



“ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต  จะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ก่อน  แล้วจึงลงมือทำ  โดยไม่ย่อท้อ  ปัญหามีไว้ให้แก้” 

ป้ามะลิ  ม่านมูล  สมาชิกสหกรณ์การเกษตรนาบ่อคำพัฒนา  จำกัด  ได้ปลูกมันสำปะหลังจำนวน  6  ไร่  และได้วางระบบน้ำหยด  และปรับปรุงโครงสร้างดินก่อนปลูกตามระบบของสหกรณ์ฯ  หรือระบบคนสร้างมัน  และผลงานก็อย่างที่เห็นครับ  มันอายุ  4  เดือน  ผลผลิต  และความสมบูรณ์ของต้นมัน  ตลอดจนหัวมันถือว่าใช้ได้เลยทีเดียวครับ  จากการดูคร่าว ๆ น่าจะต้องมี 4 – 5 ตันต่อไร่แล้ว 

ส่วนใหญ่ป้ามะลิจะใช้แรงงานตัวเองในครอบครัวเท่านั้นคือลุงเสาร์ ม่านมูลเท่านั้นไม่จ้าง  และยังมีเวลาเหลือที่จะไปรับจ้างคนอื่นที่ปลูกมันเจ้าอื่นอีก  แล้วถามว่า  แล้วทำไมไม่ทำในไร่มันตัวเอง  ป้ามะลิกับลุงเสาร์บอกกับทีมงานคนสร้างมันว่า  ก็ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ว่างงานตั้งแต่เดือนที่  2  แล้ว  จึงต้องไปรับจ้าง  คนสร้างมันถามว่า  และ 2 เดือนที่ผ่านมาไปรับจ้างชาวบ้านได้เงินเท่าไหร่ครับ  ลุงกับป้าบอกประมาณเกือบ 20,000  บาท 


นอกจากนั้นป้ามะลิยังปลูกพืชหมุนเวียนอื่นอีกไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด  พริก  มะเขือ  ผักสวนครัวต่าง ๆ  ตามคำแนะนำของผู้จัดการนัตเขต  ตันปิง  ผู้จัดการสหกรณ์  ที่เน้นเศรษฐกิจพอเพียง  ทำให้ป้ามะลิมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  และป้ามะลิยังบอกกับทีมงานคนสร้างมันมาอีกว่าปีหน้าไม่กู้เงินสหกรณ์ลงทุนแล้ว  คนสร้างมันถามว่า ทำไมหล่ะ?  ป้าบอกว่าไม่รู้จะกู้เงินมาทำอะไรแล้ว  เพราะต่อไปสหกรณ์ต้องเป็นหนี้ป้าทำไมเพราะ  “ป้าจะเอาเงินไปฝากที่สหกรณ์เพราะป้าเป็นสมาชิกสหกรณ์” 


ครับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังครับในฐานะทีมงานคนสร้างมัน  ได้เห็นเมล็ดพันธุ์ที่เราช่วยเกษตรกรให้เค้าลืมตาอ้าปากได้  อย่างป้ามะลิ  ม่านมูล  ก็หายเหนื่อยครับ  พี่น้องครับแค่ก้าวแรกของเรา  คนสร้างมันเราจะก้าวต่อไปและจะช่วยเหลือพี่น้องที่ปลูกมันสำปะหลังในเรื่องของผลผลิตครับ  งั้นเราเข้าเรื่องกันเลยครับ  เกี่ยวกับระบบน้ำ

                ปัจจุบันนี้ปัญหาเรื่องการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์เกร็ดมังกรจัมโบ้  เรื่องผลผลิตไม่น่าห่วงแล้ว  แต่เรื่องเปอร์เซ็นต์แป้งน้อย  จึงเป็นหน้าที่คนสร้างมันที่จะศึกษาพัฒนาว่าจะทำอย่างไร  หลังจากเราศึกษาจึงได้ค้นพบว่ามีสารตัวหนึ่งเป็นแร่ธาตุภูเขาไฟ  มีส่วนช่วยคายบล็อกฟอสเฟต  ช่วยให้รากพืชดูดซับอาหารมากขึ้น  ส่งผลให้เพิ่มเปอร์เซ็นต์แป้งให้กับมันสำปะหลังได้  และเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตอีกทางหนึ่ง

                เราเริ่มหัวข้อที่ว่า  การปลูกมันสำปะหลังที่ใช้ระบบน้ำเข้ามาช่วย  และส่วนใหญ่  เราเข้าใจกันว่าการปลูกมันที่มีระบบน้ำนั้น  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นระบบน้ำหยดอย่างเดียว  แต่จริง ๆ แล้ว  ระบบน้ำของคนสร้างมันก็มีอยู่สองระบบ  แล้วแต่พี่น้องเกษตรกร  สมาชิกจะใช้ระบบไหน  และต้นทุนต่างกัน  แล้วแต่ละระบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน  ต้นทุนก็ต่างกัน  การลงทุนก็ห่างกันครึ่งต่อครึ่งครับ  และผลผลิตก็ไม่ต่างกันมาก


                ก่อนอื่นที่เราจะมาเริ่มปลูกมัน  ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำหรือไม่มีระบบน้ำ  หัวใจหลักคือ “การปรุงดิน”  ก่อนครับ  การปรุงดินของคนสร้างมัน  “เราจะใช้สารอินทรีย์   อนินทรีย์  และจุลินทรีย์  สามอย่างนี้เข้ามารวมกัน  ก็คือ  ใช้สามอย่างรวมกันแล้วหมักรวมกันประมาณ 3 – 6 เดือน  แล้วจึงนำมาใส่ในไร่มันสำปะหลัง  1  ไร่  ใช้อยู่  1  ตันครับ  แล้วแต่สภาพดิน 
โรยสารปรับปรุงดินคนสร้างมัน ประมาณไร่ละ  1  ตัน  และไถด้วยผาน 3  แปรด้วยผาน 7    แล้วยกร่อง 1.20 เมตร  ระยะห่าง  70  ซม.  ปลูกมันสำปะหลัง  1 ไร่  จะ ปลูกได้  1,900  ต้น  วิธีการปลูกให้ปลูกเฉียง  45  องศา  แล้วคุมหญ้าด้วยยาคุมหญ้า  เป็นอันเสร็จในเรื่องการปลูกมันสำปะหลัง  และระบบน้ำก็จะพูดถึงระบบประหยัดก่อน  เพราะระบบนี้ลงทุนน้อย  แต่ต้องมาคำนวณนะ  ว่าปีนี้ฝนจะตกเดือนไหน  เป็นสิ่งสำคัญมาก  สำหรับระบบนี้  เพราะว่ามันสำปะหลังจะทำงานอย่างมากสุด  3  เดือนเท่านั้นเอง

                ครับเราเริ่มตรงพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชรก็แล้วกัน  สำหรับเกษตรกรท่านอื่นที่ไม่ได้อยู่กำแพงเพชรก็ประมาณการเอานะครับ  เราจะเริ่มต้นปลูกเดือน  มีนาคมครับ  เป็นเดือนที่เหมาะที่สุดสำหรับระบบน้ำเทวดา  หลังจากนี้เราปรับปรุงดินโดยการปรุงดิน  แล้วเราไถผาน 3 แล้วแปลด้วยผาน 7  แล้วก็สูบน้ำใส่ในไร่มัน  หลังจากนั้นประมาณ  7 – 10 วัน แค่ดินพอเหมาะ (แค่รถไถลงยกร่องได้ ก็ยกร่องได้เลย)  ระยะร่อง 1.20 เมตร  และปลูกได้เลย  แต่อย่าลืมต้องปลูกเฉียง 45  องศานะครับ  ปลูกเสร็จก็คุมยาคุมเลย 


หลังจากนั้นประมาณ  15  วัน  เราก็สูบน้ำใส่อีกครั้ง  สรุป  เดือนละ  2  ครั้ง  เป็นเวลา 1 – 3 เดือน  ถ้าโชคดีอาจจะไม่ต้องสูบน้ำใส่ก็ได้  เพราะว่าประมาณกลางเดือนมีนาคม  อาจจะมีฝนหลังฤดู  แต่ถ้ามีนาคมฝนไม่ตกลงมาเราก็สูบน้ำใส่  ถ้าเดือนเมษายนฝนไม่ตกอีกก็สูบน้ำใส่  แต่ถ้าพฤษภาคม  ฝนจะเริ่มตกดี แสดงว่าเริ่มมาแล้วเพราะว่าในน้ำฝนจะมีไนโตรเจนถึง  5 % จะทำให้มันที่มีอายุ  1  เดือน  ถึง  1 เดือนครึ่ง  จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว  จึงทำให้ปัญหาเรื่องหญ้าทำงานแค่ครั้งเดียวครับ 

เข้าเดือนพฤษภาคมมันมีอายุ  2  เดือน  ก็สามารถใส่ปุ๋ยเร่งหัวได้เลยครับ และพอเข้าเดือนมิถุนายนเข้าสู่เดือนที่สามก็ไม่มีงานทำแล้ว  แค่รอใส่ปุ๋ยอีก 2 ครั้ง  คือ  4  เดือน  และ  6  เดือน  จากนั้นมันอายุประมาณ  10 – 11 เดือน  ก็ขุดได้เลย  แต่แนะนำขุดเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์  จะได้พอดีกับการปลูกมันในงวดต่อไป  คือปลูกเดือนมีนาคม – เมษายน  และขุดเดือน  มกราคม – กุมภาพันธ์  จะได้พอดี  10  เดือน  จะได้ทั้งน้ำหนัก และเปอร์เซ็นต์แป้งของมันสำปะหลัง  ผลผลิตของระบบนี้น่าจะได้ 8 – 10 ตันต่อไร่  ถ้าเราคิดว่าเหง้าหรือ 1 ต้นของมันสำปะหลัง  คิดเฉลี่ยที่ 5 – 6  กิโลกรัมต่อ 1 ต้น  และ 1 ไร่  ก็ได้  1,900 – 2,000  ต้น  ผลผลิตก็ตามเป้าที่คิดไว้คือ  8 – 10  ตันต่อไร่แบบสบาย ๆ  โดยไม่ต้องกังวลใจเพราะทำตามระบบที่คนสร้างมันทำไว้ให้  ต้นทุนระบบน้ำเทวดา  ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ไร่ละ 2,000 – 2,500 บาท  สูบน้ำ  6  ครั้ง  คือ  ให้น้ำเดือนละ 2 ครั้ง 


                ส่วนต่อในเรื่องของระบบน้ำหยด  ก็หลักการเดียวกับระบบน้ำเทวดา  คือ  หลังจากที่เราปรับปรุงดินปรุงดินแล้ว  ให้ยกร่อง   แต่เราต้องวางระบบน้ำหยดก่อนปลูกมัน   ทำการทดลองเดินระบบน้ำหยด  แล้วจึงค่อยปลูกมันสำปะหลัง  ปลูกเสร็จแล้วคุมยาคุมหญ้า  และการให้น้ำอาจจะให้  7 – 10  วัน  ให้ครั้งหนึ่ง  ระยะห่างการปลูกในระบบน้ำหยดคือ  1.20  เมตร × 90  ซม.  1  ไร่จะปลูกได้  1,500  ต้น  แต่ระบบน้ำหยดจะปลูกห่างกว่า  ผลผลิต  10 – 15  ตันต่อไร่  โดยเฉลี่ยน้ำหนักต่อต้นอยู่ที่ 7 – 10  กิโลกรัมต่อต้น × 1,500  ต้นต่อไร่  ผลผลิตจะได้ 10 – 15  ตันต่อไร่  การลงทุนระบบน้ำหยดเฉลี่ยแล้ว  1  ไร่จะลงทุนประมาณ  5,000 – 6,000  บาท  ส่วนใหญ่จะแพงค่าแรง  แต่ถ้าเราทำเองก็จะอยู่ที่ 4,000 – 4,500  บาท  และสามารถให้ปุ๋ยทางน้ำได้

สรุประบบน้ำที่คนสร้างมันคิดให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังมี  2  ระบบ คือ 

ระบบที่ 1  ระบบน้ำเทวดา  คือ  ปลูกต้นฤดูฝน  ประมาณช่วงเดือน  มีนาคม – เมษายน  และอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเข้าช่วย  จะทำให้ช่วงที่มันต้องการน้ำที่สุดคืออายุ 3 – 4 เดือน  น่าจะพอดีกับความต้องการน้ำ  ต้นทุนก็ต่ำอยู่ที่ประมาณ  2,000 – 2,500  บาทต่อไร่  อุปกรณ์ที่ใช้ก็ท่อกับสายยางครับ  อายุการใช้งาน 3 – 5 ปี  เหมาะสำหรับพี่น้องเกษตรกรที่มีงบน้อยครับ

ระบบที่  2  ระบบน้ำหยด  คือ  ระบบน้ำหยดจะเริ่มปลูกเหมือนกันคือ เริ่มเดือนมีนาคม – เมษายน  แต่อาจจะให้น้ำถี่ในช่วง 7 – 10  วัน  สามารถให้ปุ๋ยทางน้ำได้  และไม่ต้องกังวลเรื่องฝนจะตกหรือไม่ตก  และสามารถเร่งผลผลิตได้ตลอดทั้งปี  ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากกว่าระบบที่  1 จำนวน  2 – 5 ตัน  จากประสบการณ์ที่ทำมา  แต่ต้นทุนต่อไร่ประมาณ  4,000 – 6,000  บาทต่อไร่  อายุการใช้งานประมาณ  2 – 3  ปี  และต้องมีค่าใช้จ่ายในปีต่อไปประมาณ 2,000 – 3,000  บาท  ในเรื่องของเช่น  ค่าข้อต่อ  กาว  ข้อต่อตรงสายน้ำหยด  และค่าแรงในการเก็บและการติดตั้ง  ก็เป็นทางเลือกสำหรับพี่น้องชาวไร่มันสำปะหลังครับ 

รายละเอียดสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ “www.คนสร้างมัน.com”  หรือจะโทรมาสอบถาม   หรือถ้าท่านใดต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ต้องการมาศึกษา ดูงาน  ลงภาคสนามลงพื้นที่จริง ๆ  ติดต่อโดยตรงได้ที่เบอร์“คนสร้างมัน”เบอร์โทร. 081-9725012  หรือติดต่อได้ที่สหกรณ์การเกษตรนาบ่อคำพัฒนา  จำกัดเบอร์โทร. 055-763330

“เราคือมิตรแท้ของเกษตรกรตัวจริง” จากใจคนสร้างมัน “นักสู้หลังพระ”


ข้อมูลจากนิตยสารพืชพลังงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น