Translate

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ปลูก “หญ้าข่มคา” ในสวน เพิ่มน้ำหนักและผลผลิตปาล์มน้ำมัน


เรื่อง/ภาพ : พยัคฆ์ทมิฬ

จังหวัดชุมพรมีพื้นที่ในการปลูกปาล์มน้ำมันแหล่งใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของประเทศไทยรองจาก จังหวัดกระบี่ และสุราษฎร์ธานี ดังนั้นวีถีต่างๆที่เป็นแนวทางในการจัดการสวนปาล์มน้ำมันจึงมีให้ศึกษาหลายแง่มุม

            ความตั้งใจที่นำเสนอ อีกหนึ่งมุมมองที่หลายๆท่านมองข้ามไปในการจัดการสวนปาล์มน้ำมันในครั้งนี้ เพื่อเป็นเสมือนทางลัดให้ทราบว่า ที่จริงแล้วการเพิ่มผลผลิตหรือลดการสูญเสียน้ำหนักของปาล์มน้ำมันที่ยังอยู่ในสวนทำอย่างไร ทั้งนี้ผู้เขียนได้เลือกพื้นที่ไปยัง จ.ชุมพร และได้ คุณสัญญา ปานสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ชุมพร เป็นผู้อำนวยความสะดวก พร้อมเดินทางเก็บข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย

เช้าวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ผู้เขียน พร้อมออกเดินทางไปยังสวนปาล์มน้ำมัน 20 ไร่ของ อาจารย์จรูญ ประดับการ อดีตข้าราชการครูวัย 63 ปี ที่หันมายึดอาชีพชาวสวนปาล์มน้ำมัน สร้างรายได้ช่วงบั้นปลายชีวิต ด้วยพื้นฐานของความเป็นครูทำให้เขาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นเกษตรกรต้นแบบ และให้คำแนะนำในการจัดการสวนที่มีประสิทธิภาพพร้อมลดต้นการผลผลิตได้ดี 

ลักษณะใบของหญ้าข่มคาจะคล้ายใบไผ่
เกษตรกรผู้นี้มีความรู้ และประสบการณ์ในการดูแลจัดการสวนปาล์มน้ำมัน ได้ค้นหาวิธีการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตในปาล์มน้ำมันของตนเอง หลากหลายวิธีการจนค้นพบว่าการรักษาความชื้นในดินจะสามารถช่วยลดการสูญเสียน้ำหนักในทะลายปาล์มได้

“ผมทำการสังเกตมานานแล้วพบว่า ถ้าเราตัดหญ้าสั้นๆเมื่อเข้าช่วงฤดูแล้ง เพียงเวลา 10 วัน ทำให้น้ำหนักของทะลายปาล์ม หายไป 100 กิโลกรัม คิดเฉลี่ยในปริมาณทั้งหมด 1,000 กิโลกรัม แต่ถ้าปล่อยให้หญ้ายาวพอประมาณ ไม่ดูรกมากเกินไปน้ำหนักที่จะหายไปมีเพียง 30-40 กิโลกรัม/1,000 กิโลกรัมเป็นอย่างมาก




                ข้อแนะนำ การรักษาความชื้นในดินได้ดีนั้นคือปล่อยให้มีวัชพืชขึ้นปกคลุมหน้าดินบ้าง โดยเลือกวัชพืชที่มีประโยชน์อย่างเช่น หญ้ากรวมคา หรือ หญ้าข่มคา และพืชคลุมดินตระกูลถั่ว

ปลูกหญ้าข่มคา ในสวนปาล์มน้ำมันประโยชน์นานัปการ และช่วยปรับระบบนิเวศ

ครูจรูญเล่าให้ฟังว่า ทางเขตภาคใต้จะพบหญ้าชนิดหนึ่งที่รู้จักทั่วไปว่า “หญ้าข่มคา” เกิดขึ้นภายในสวนไม้ผล ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ต่อมาได้มีการศึกษาเพิ่มเติมจนทราบถึงประโยชน์ของหญ้าชนิดดังกล่าวจึงทำให้เขาเกิดแนวคิดว่าจะทดลองนำหญ้าชนิดดังกล่าวมาปลูกไว้ภายในสวนบ้าง หากมีการเปลี่ยนแปลงภายในสวนที่ดีขึ้นก็เท่ากับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นการพัฒนาด้านการจัดการสวนได้อีกระดับ แต่หากผลออกมาไม่ดีอย่างที่ตั้งใจไว้จะทำลายทิ้งก็ไม่ใช่เรื่องยากเพราะหญ้าชนิดนี้เพียงแค่ถูกเหยียบย้ำมากๆก็ตายแล้ว

ครูจรูญกำลังแหวกกลุ่มหญ้าข่มคาออกเพื่ให้ดูร่องรอยการเข้าอยู่อาศัยของไส้เดือน

















หญ้าข่มคา หรือ ภาคใต้เรียกว่า หญ้าใบมัน เป็นพืชคลุมดินอย่างดี มักขึ้นในที่ร่มตามสวนไม้ผล สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน หรือในที่ที่มีฝนตกชุก พบมากทางภาคใต้ ลำต้นเล็ก สูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร ใบยาวประมาณ 6-8 เซนติเมตร บริเวณฐานใบกว้างประมาณ 4 เซนติเมตร ลักษณะใบคล้ายใบไผ่ ช่อดอกมีลักษณะเป็นแฉก ลักษณะลำต้นเป็นเถาคลุมพืชต้นเตี้ยอื่น ๆ เช่น หญ้าคา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หญ้าข่มคา” 

“คนทั่วไปเขารังเกียจ คิดว่ามันรก เกะกะ ทำรายยากและไม่มีประโยชน์ใดๆ ผมได้มาสังเกตการณ์เจริญเติบโต และศึกษาถึงข้อดี ข้อเสียของหญ้าชนิดนี้ จนทราบว่าสามารถช่วยควบคุมความชื้นในดินได้อย่างดี และที่สำคัญทำให้เกิดมีไส้เดือนมาก ซึ่งนับว่าเป็นผลดีที่เดียวหากนำมาปลูกในสวนปาล์ม”

ต่อมาคุณจรูญได้นำหญ้าข่มคามาปลูกที่สวนปาล์มเพื่อให้รักษาความชื้อภายในสวน โดยมีขั้นตอนการเตรียมต้นพันธุ์และการปลูกดังนี้

ขี้ไส้เดือนร่องรอยของการอยู่อาศัย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นปุ๋ยแก่ต้นปาล์มได้อย่างดี

เริ่มจากหาหญ้าข่มคาจากแหล่งที่มี แล้วใช้จอบหรือเสียมขุดออกมา จากนั้นตัดต้นของหญ้าข่มคาขนาดความยาวประมาณ 1 คืบ เพื่อให้เกิดการแตกยอดใหม่ที่อุดมสมบูรณ์ หลังจากนั้นแบ่งออกประมาณ 1 กำมือต่อการปลูก 1 หลุม สำหรับขั้นตอนการปลูก ควรมีการเตรียมพื้นที่สักเล็กน้อยด้วยการพรวนดินและตัดหญ้าเก่าออกให้หมด แล้วขุดหลุมปลูกให้ความห่างระหว่าต้นและแถวประมาณ 50 เซนติเมตร ที่สำคัญให้ห่างจากโคนต้นปาล์มน้ำมันประมาณ 1.50 เมตร

หญ้าข่มคาเป็นพืชที่มีความอดทนต่อการขาดน้ำได้ดี เพียงระยะเวลา 2 ปีก็สามารถเจริญเติบโตได้เต็มพื้นที่แล้ว ในการดูแลไม่ให้สูงเกินไปควรมีการตัดปีละครั้งโดยตัดให้สูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร

ครูจรูญอธิบายถึงประโยชน์ของหญ้าชนิดนี้ให้ฟังต่อว่า หญ้าข่มคาสามารถรักษาความชื้นในดินไว้ได้นาน โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้ง ส่งผลให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลาทำให้ปาล์มไม่ขาดน้ำ

นอกจากนั้นยังสามารถตรึงไนโตรเจนในอากาศและในดิน ซึ่งมาจาก ปม หรือ ราก แล้วเปลี่ยนให้เป็นสารประกอบไนโตรเจนได้แก่ ไนเตรต และ เกลือแอมโมเนีย ที่มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี ปาล์มจะสามารถดูดซึมสารประกอบเหล่านนี้แล้วนำมาสังเคราะห์เป็นโปรตีน ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต

แน่นอนผลพลอยได้ที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ตามมาในการปลูกพืชคลุมดิน เมื่อดินมีความชุ่มชื้นก็ส่งผลให้มีการเข้ามาอยู่อาศัยของไส้เดือน เมื่อมีไส้เดือนดินที่เคยแข่งแน่นก็กลายเป็นทำให้ดินมีความโปรงซุย รากปาล์มจึงหาอาหารได้ดีขึ้น พร้อมทั้งมูลไส้เดือนยังเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย


คุณจรูญยังบอกอีกว่าบริเวณใดมีหญ้าคาเกิดขึ้นแล้วนำหญ้าข่มคาไปปลูกเมื่อโตขึ้นหญ้าคาก็จะค่อยๆตายไป เพราะลักษณะนิสัยการเจริญเติบโตของหญ้าคาจะชอบในที่โล่งแจ้ง แต่เมื่อหญ้าข่มคาที่เป็นพืชเถาและเกิดติดกันจนทึบจึงทำให้หญ้าคาเจริญเติบโตไม่ได้ ซึ่งในแง่มุมนี้ยังช่วยให้ลดการใช้สารเคมีกำจัดหญ้าคา ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

“จากการทดทองไว้หญ้าคลุมดินให้ยาวหลายชนิด เพื่อทดสอบการเก็บความชื้น ปริมาณการเข้าอยู่อาศัยของไส้เดือน และความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน ปรากฏว่า หญ้ากรวมคา (ชื่อเรียกตามภาษาถิ่นใต้) หรือ หญ้าข่มคา มีปริมาณไส้เดือนมาอาศัยอยู่มากที่สุด ดินโปรง และอุ้มน้ำหรือเก็บความชื้นได้ดี” ข้อสรุปของการปลูกพืชคลุมดินที่ตอบโจทย์ได้ครบถ้วน




ครั้งต่อไป อาจารย์จรูญ ประดับการ จะมีเทคนิคการจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างไรให้ได้ผลผลิตดีมากฝากกันอีก อย่าลืมติดตามกันต่อด้วยนะคะ

ข้อมูลจาก นิตยสารพืชพลังงาน ฉบับที่ 52/2555 หน้าที่ 32



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น