Translate

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตำรวจไทยหัวใจเกษตร…ปลูกปาล์มน้ำมัน ทำรายได้ หลังเกษียน


คอลัมน์ : สกู๊ปพิเศษ

เรื่องโดย : ดวงจันทร์ จิตไธสง

คนไทย ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร หรือ อยู่ที่ไหน ท้ายที่สุดของการดิ้นรนบนเวทีการแข่งกันมั่งมี แข่งกันได้ หรือแม้แต่แข่งกันเป็นใหญ่เป็นโต ก็จบลงที่ “เกษตรกรรม”


“เกษตรกรรม” อาชีพทางเลือกที่หลายๆคนไม่สามารถเลือกได้ เพราะสืบเชื้อสายการเป็นลูกหลานเกษตรมาตั้งแต่ต้น ในขณะที่ลูกคนมีอันจะกินและคนที่ไม่รู้จะนำเงินไปทำอะไรเพราะเป็นนักธุรกิจมาก่อน ก็อยากลองนำเงินมาลงทุนธุรกิจทางด้านเกษตรบ้าง


จากหลายๆตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยพบเจอเองกับตา และเข้าไปสัมผัส พร้อมด้วยได้รับทราบถึงแนวคิดของนักลงทุนหลายๆท่าน ทำให้ทราบว่า “เกษตรกรรม” มีเงินอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ บทพิสูจน์หลายครั้งที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนบางท่านดำเนินธุรกิจอย่างอื่นประจำอยู่แล้ว หากแต่มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอยู่จึงได้ลงทุนซื้อต้นกล้าปาล์มน้ำมันมาปลูก แต่ไม่ได้ลงแปลงไปดูเอง ปล่อยให้คนงานทำงานโดยลำพัง ท้ายที่สุดผลผลิตที่ควรจะได้เมื่อปาล์มอายุ 3 ปี กลับไม่ได้ ต้นทุนก็เสีย ค่าแรงก็จ่าย อย่างนี้แล้วใครกันที่ว่า “คนมีเงินทำอะไรก็ได้” คงจะเป็นไปไม่ได้แล้วกระมัง
ปาล์มน้ำมัน แม้จะเป็นพืชที่ค่อนข้างเรื่องมาก เอาแต่ใจ แต่ใช่ว่าจะปลูกเลี้ยงยากเกินความสามารถ “คนอีสาน” เป็นเกษตรกรที่มีความอดทน และมีความตื่นตัวมากกับการหารายได้ด้วยการปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งๆที่รู้ว่าอนาคตจะต้องเดินหน้ากันเองโดยไร้การส่งเสริมจากรัฐบาล

หลายคนคงทราบกันแล้วว่าในเวลานี้ ปาล์มน้ำมัน ได้กลายมาเป็นอาชีพที่เกษตรกรหลายคนนำมาเป็นอาชีพหลักหรือ อาชีพเสริมไม่ต่างจาก ดาบตำรวจไพทูล  ภาษาพรม  ชายผู้ที่มีอาชีพรับใช้ชาติท่านนี้ ใครๆมองก็ต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเขามีหน้าที่การงานที่มั่นคง เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม แต่ด้วยหลายๆมุมมองที่ทำให้เขาหวนนึกถึงสิ่งที่มั่นคงกว่านั้นเพราะอาชีพ “ราชการ” ที่เขารับอยู่ ณ ตอนนี้เหลือเพียงไม่กี่ปีก็ได้ปลดเกษียณเสียแล้ว
ในเวลานี้ “ปาล์มน้ำมัน” ได้กลายมาเป็นอาชีพที่เกษตรกรหลายคนนำมาเป็นอาชีพหลัก  และคงจะรู้กันดีว่า ถ้าพูดถึงปาล์มน้ำมันคงต้องนึกถึงทางภาคใต้ แต่ยังมีไม่กี่คนที่ได้นำเอาปาล์มน้ำมันมาปลูกในภาคอีสาน และยังยึดเป็นอาชีพหลักอีกด้วยบุคคลที่กล่าวนั้นก็คือ  ดาบตำรวจไพทูล  ภาษาพรม  ผู้ที่มีอาชีพรับราชการที่มั่นคง แต่มีมุมองที่แตกต่างจากคนอื่น คืออยากทำอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม และได้ยึดดารปลูกปาล์มน้ำมันมานานกว่า 10 ปี และเป็นบุคคลที่ได้ทำเกษตรกรรมแบบสวนทางจากคำว่า “ภาคอีสานปลูกปาล์มน้ำมันไม่ได้”


ด้วยเหตุที่ครอบครัวทำในเรื่องเกษตรกรรมอยู่แล้ว และอยากหาอาชีพเสริมเพิ่มเติมอีก จะทำอะไรก็ได้ที่เป็นอาชีพเกษตรกรรม จึงมาค้นพบปาล์มน้ำมัน ได้มีการทดลองแล้วว่า ในภาคอีสานมีคนปลูกปาล์มน้ำมันได้ และส่วนตัวผมก็เชื่อว่าต้องทำได้ “ในเมื่อคนอื่นเขายังทำได้เลย ผมก็เลยลองทำดูบ้าง”

จึงได้ย้ายจาก จ.ศรีสะเกษ มาที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อปี 2533 เพราะว่ามาแต่งานที่นี่ด้วย พอมาอยู่ได้ไม่กี่ปีจึงเริ่มซื้อที่ดินเพื่อเอาไว้ทำไร่ ทำสวน และได้มาสร้างครอบครัว ณ อ. นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี  นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เหตุที่หันเหมาปลูกปาล์มน้ำมันอย่างจริงจัง

                ตอนนั้นทางเกษตรอำเภอนาจะหลวยได้แนะนำให้ปลูกปาล์มน้ำมัน จึงหันมาทดลองปลูกดู แต่ก็ยังไม่วายที่คนมักจะบอกเสมอว่า อีสานปลูกปาล์มน้ำมันไม่ได้  ทางเกษตรอำเภอนาจะหลวยจึงได้มีการพาเกษตรไปดูงานที่ภาคใต้ ดูในเรื่องของการเพาะเมล็ดก่อน

                เริ่มแรกได้เก็บเมล็ดมาปลูกเล่นๆ คือเอามาทิ้งไว้ บริเวณที่ล้างจาน นานไปก็เริ่มงอกขึ้นมา ทางเกษตรนาจะหลวยจึงเกิดความสงสัยว่าทำไมทางภาคอีสานเราจะปลูกปาล์มน้ำมันไม่ได้ทั้งที่ทิ้งเมล็ดไว้เฉยๆ

                จึงได้มีการไปดูงานอีกรอบ โดยไปที่โรงงานสุขสมบูรณ์ จ.ชลบุรีและมีการนำเอาเมล็ดกลับมาปลูกและได้ของบจาก อบจ. ซึ่งเป็นปาล์มรุ่นแรกที่ทาง อบจ.สนับสนุน ในพื้นที่ 760 ไร่ จำนวน16,720ต้น

                “เมื่อปี 2549 ทาง อบจ.สนับสนุนงบมาเท่าไหร่ ทางผมไม่ได้ทราบถึงตัวเลขคือ เขาไปประมูลมาให้เราแล้ว ทางเกษตรสมบูรณ์เขาก็เอามาให้”


คุณสมบัติของผู้ที่จะมาขอพื้นที่นั้นต้องมีที่ทำกินในเขต อำเภอนาจะหลวย เท่านั้น!!!  ทางเกษตรอำเภอจะเป็นผู้สำรวจรายชื่อ ว่ามีที่ดินอยู่จริงหรือเปล่า แล้วทำการเกษตรอยู่จริงไหม ซึ่งในพื้นที่ 760 ไร่ ได้แบ่งให้เกษตรกรครัวเรือนละ 5 ไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรซื้อเองด้วย  ในปี 2550-2551 จะมีการเพิ่มพื้นที่ให้ ในรอบที่ 2 ประมาณ 1,300 ร้อยไร่ แต่ส่วนมากก็ไม่พอ เพราะว่ามีคนอยากปลูกเยอะจะต้องซื้อที่ดินมาปลูกเองด้วย “ผมก็ได้ซื้อพื้นที่เพิ่มประมาณ 50 ไร่ และที่ดินตอนนี้มีอยู่ประมาณ 60 ไร่”

แนวคิดการปลูกปาล์มน้ำมัน

หลังจากที่ไปดูงานที่ อ.สีชมพูจ.ขอนแก่น ได้มีการแนะนำจากผู้รู้ และได้ให้ตัวอย่าง การปลูกแบบสามเหลี่ยม มาและได้แนะนำวิธีการปลูกมาด้วย สำหรับการปลูกจะทำเป็นร่อง เป็นแนว โดยใช้สามเหลี่ยมเป็นการจัดคือ 9x9 เมตร แล้วเดินสลับไปเรื่อยๆ จากนั้นก็จะได้เป็นแนวสามเหลี่ยมด้านเท่า

ราคาซื้อที่ในตอนนั้น 12,000 บาท และที่สำคัญที่ตรงนี้เป็นป่าด้วย จึงได้ทำการไถพรวนเพื่อที่จะทำการเกษตรแต่ยังไม่ได้คิดว่าจะทำปาล์มน้ำมัน แต่ตอนนั้นมีคนปลูกยางพาราเยอะมาก จึงมองว่าจะปลูกอะไรดี  พี่ๆน้องๆ จึงแนะนำให้ปลูกปาล์มน้ำมันก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นปาล์มน้ำมันหรือยางพาราดี

คุณไพทูลได้เห็นชาวบ้านทำเมล็ดปาล์มร่วงแล้วเกิดการทลายขึ้น จึงฉุกคิดขึ้นในใจว่า มันต้องปลูกได้ จึงได้หันมาปลูกปาล์มน้ำมันอย่างจริงจัง

“ช่วงที่ไถยังไม่ได้ปลูก มีคนแถวภาคใต้เข้ามาทำงานกลุ่มนั้นเริ่มปลูกรุ่นแรกเมื่อปี 2547 สำหรับต้นกล้าถ้าไม่พอก็ต้องซื้อเพิ่มมาอีก ตามความคิดของผม ผมรู้สึกว่าการการปลูกปาล์มน้ำมัน มีกระบวนการที่ง่ายกว่าการปลูกยางพารานะ คือ การปลูกยางจะต้องคอยเฝ้าดูแลอยู่ตลอด  อันดับแรกเลยคือ ต้องมีแรงงาน และต้องเป็นแรงงานประจำด้วย และที่สำคัญตอนนี้แรงงานก็หายาก  แต่การปลูกปาล์มน้ำมันไม่ต้องมีแรงงานประจำ จ้างเป็นรายวันก็ได้ เพราะตอนนี้ต้นพันธุ์เราก็ยังเล็กอยู่ ไม่ต้องคอยจู้จี้จุกจิกมากเกินไป และการดูแลก็ต่างกัน ปาล์มน้ำมัน 15 วันค่อยมาดูก็ได้ ใส่ปุ๋ยเสร็จก็กลับไปนอนบ้านได้สบายใจ”

ตอนนี้ต้นปาล์มที่สวนอายุ 7 ปี และทุกต้นก็เริ่มมีทลายเต็มคอ และแทงตามขึ้นมาเรื่อยๆ การดูแลจะให้ทางลูกน้องเป็นคนดูแล ให้ปุ๋ยให้น้ำ และผมก็จะช่วยแค่ 10% ที่เหลือก็จะเป็นลูกน้อง เพราะเขาจะเก่งในเรื่องนี้อยู่แล้ว และเป็นคนงานจากภาคใต้ด้วย จึงง่ายต่อการดูแล การจัดการภายในสวน

ต้นทุนการผลิต

                ช่วงปี 2549 ในการซื้อต้นละ 80 บาท สายพันธุ์เทเนอร่า ของเกษตรสมบูรณ์ ปลูกในพื้นที่ 80 ไร่ ไร่ละ 22 ต้น ก็ประมาณ 1,800 ต้น ต้นทุนรวมทั้ง ปุ๋ย สารอาหารต่างๆ ประมาณ 150,000 บาท
การให้ปุ๋ย รดน้ำ

                การรองก้นหลุมใช้ ร็อคฟอตเฟส ใช้รองก้นหลุมประมาณ 2-3 เดือน แล้วจะใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ช่วงที่ต้นยังเล็ก จะยังให้น้อยอยู่ เพราะต้นเล็กยังกินอาหารน้อย จะให้ 3 เดือน/ครั้ง แล้วใช้ปุ๋ยคอกโรยรอบๆโคนต้นเรื่องโรคแมลงที่สวนจะไม่ค่อยมี แต่ตอนต้นที่ยังเล็กๆอยู่จะมีหนูที่คอยมากัดกินใบ ลำต้น แต่ยังไม่ถึงกับกัดขาด ในเรื่องของการให้น้ำ จะใช้ระบบธรรมชาติ เพราะในเรื่องของต้นทุนต่างๆก็มีจำนวนจำกัด

                “เวลากัดก็จะกัดไม่ขาดนะ ที่ผมไปดูสวนมาก็ประมาณ 7-8 ต้น ทีแรกเราก็นึกว่าจะไม่โดนนะ พอมากดูอีกที มันดันกินไปเรียบร้อยแล้ว”

                สำหรับการตัดแต่งทางล่าง ตามที่กรมวิชาการบอกมาคือ 2-3 ปี แต่ว่าชาวบ้านทั่วไปจะตัดแต่งประมาณ 2 ปี สำหรับสวนของคุณไพทูล จะตัดแต่งตอนอายุได้ 4 ปี ห้ามตัดก่อนที่ต้นจะโต เพราะว่า ต้นมันจะเสียทรง ผอม เอวขอด

                “ในการทำให้อ้วนนั้นมันจะเกี่ยวข้องกับการตัดแต่งกิ่งด้วย คือจะพยายามตัดแต่งให้ห่างเข้าไว้ แต่ไม่ใช่ตัดให้จำริบเลยนะ แล้วมันมันก็จะแตกกิ่งออกมา คือ คอกิ่ง ดังนั้นเราจึงต้องพยายามรักษารูปทรงเอาไว้ เพื่อให้ต้นอ้วน สวย”

                ไร่ของคุณไพทูลใช้ระยะเวลาการให้ผลผลิต 3 ปี แรกก็เริ่มออกแล้ว คือ ช่วงวันแรกๆจะยังไม่แทง หรือทิ้ง เพราะว่าทางเกษตรสมบูรณ์ยังคงรับซื้ออยู่ ช่วยเกษตรกรโดยการคละเกรดกันไป ทางโรงงานก็ยังช่วยเกษตรกรโดยการเข้ามาดูที่สวน เพราะว่าทางโรงงานได้สนับสนุนทางเกษตรสมบูรณ์อยู่ และได้ให้เงินมาหมุนในการทำโดยไม่มีดอกเบี้ย ประมาณ 100,000 บาท/ปี ถึงไม่มีดอกเบี้ยแต่พอครบ 1 ปี ต้องเอาเงินมาส่งที่สหกรณ์แล้วค่อยกู้ใหม่ จะต้องมีเงินหมุนในสหกรณ์อยู่ตลอดเพราะเรายังเป็นสหกรณ์ใหม่ต้องค่อยเป็นค่อยไป

                พอทางโรงงานหรือผู้สนับสนุนมีการลงมาดูตามสวนแล้วก็จะมีการประชุมกัน อย่างของตัวแทนของ อบจ. ก็มาประชุมเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับปาล์มว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ตอนนี้ปลูกไปถึงไหนแล้ว และก็จะตามลงไปดูที่สวน

                ทางเกษตรก็ทำการติดตามผลมาโดยตลอด แต่ตอนแรกเกษตรบางที่ก็มีไม่ชอบบ้างและพูดมาว่า “ปลูกมะพร้าวยังไม่ได้ผลเลย แล้วปาล์มจะได้อะไร”  แต่สำหรับเกษตรที่ อ.นาจะหลวย กลับบอกว่า ปลูกได้ เพราะตอนที่ปลูกมะพร้าวยังปลูกทิ้งไว้เฉยๆก็มีลูก ถ้าเราใส่ปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหารอีกหน่อยน่าจะได้ผลผลิตดี

                เมื่อเกษตรกรช่วยเรา เราก็ต้องเต็มที่ พอมีคนมาถามว่าต้นพันธุ์ก็จะบอกได้ว่าเป็นต้นพันธุ์ที่มาจาก เกษตรสมบูรณ์ เมื่อต้นพันธุ์ไม่พอเขาก็จะเอามาให้เพิ่มอีก ทางเกษตรสมบูรณ์มีการปลูกอยู่ประมาณหมื่นกว่าไร่ โดยมีการเปรียบเทียบจากแปลงที่อยู่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง 

ก่อนจะเกิดเป็นสหกรณ์ปาล์มน้ำมันจนถึงทุกวันนี้

                3 ปีให้หลังที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเริ่มปลูกมาตั้งแต่ปี 2547 และมาเริ่มแทงลูก เมื่อปี 2551 เมื่อเห็นว่าปาล์มแทงลูก จึงเริ่มเชื่อว่า สามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้

                จากนั้นก็มีการนำผลปาล์มมาโชว์กัน ทาง อ.นาจะหลวยก็ได้มีการเอามาวางโชว์ด้วยเช่นกัน จนทางผู้ใหญ่ได้พบกับปาล์มของ อ.นาจะหลวย พอดูแล้วเริ่มสนใจ และก็ได้สนับสนุนให้ปลูกปาล์ม และให้จัดตั้งเป็นสหกรณ์ 3 เหลี่ยมมรกต ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 1-2เดือน ก็สามารถเป็นสหกรณ์ได้ เพราะปกติในการจัดตั้งสหกรณ์ต่างๆ จะขอยากมากพอได้สหกรณ์แล้วก็จะมาวางขายร่วมกันมีการถ่ายรูปปาล์มออกมาโชว์หน้าสหกรณ์ช่วงนั้นได้ปาล์มประมาณ 1 รถสิบล้อ ขายได้ประมาณ 100-300 บาท เมื่อตอนปี 2551-2552 เริ่มมีกำลังใจการทำมากขึ้น

                ในช่วงที่เปิดสหกรณ์ใหม่ๆ ก็มีชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิก โดยให้ชาวบ้านมารับพันธุ์ปาล์มที่สหกรณ์แล้วแนะนำวิธีการในการปลูกด้วย และบอกถึงสาเหตุที่ต้องเป็นสหกรณ์เพราะว่าจะมีปัญหาในเรื่องของการขาย ทางสหกรณ์จะมารับผลปาล์มไปส่งให้โรงงานแล้วราคาก็จะไม่ถูกกด  แต่ถ้าเป็นการส่งให้พ่อค้าคนกลางก็จะโดนกดราคาแน่นอน

                เมื่อก่อนสหกรณ์มีสมาชิกแค่ 52 คน พอไปจดทะเบียนแล้วมีสมาชิกเพิ่มเป็น 400 คน และมีการแต่งตั้งประธานกลุ่มขึ้นมาเอง ทั้งแต่งตั้งกรรมการ โดยไม่มีการเลือกตั้งแต่อย่างใด

                แต่ตอนนี้มีการเลือกตั้งประธานกลุ่ม กรรมการ โดยการส่งรายชื่อเข้าไปทางจังหวัด เมื่อทางจังหวัดอนุมัติแล้วก็จะทำการเลือกตั้ง ซึ่งมีงบประมาณจากการสมัครเข้าร่วมของสมาชิกคนละ 500 บาท“ต้องยอมรับว่าช่วงนั้นจะทำอะไรแต่ละอย่างยากแค้นแสนเข็นเหลือเกิน”

                สถานที่ที่ใช้เป็นสหกรณ์ตอนนั้นคือ สำนักงานเกษตรจังหวัด โดยเขียนป้ายติดไว้เพื่อให้รู้ว่าที่ตรงนี้เป็นสหกรณ์ปาล์มน้ำมันของ อ.นาจะหลวย ทุกอย่างยังเช่าอยู่ไม่ว่าจะเป็น สถานที่การตั้งสหกรณ์ จุดชั่ง

                เมื่อเริ่มมีการทำมากขึ้น ขายได้มากขึ้นและเริ่มมีทุน ก็มีจุดชั่งเป็นของตัวเอง ทำให้การขนส่ง การขายสะดวกขึ้นกว่าเดิม กว่าจะมีพื้นที่เป็นของตัวเองก็ใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าๆ ทุนก็ได้จากการขายปาล์มของสมาชิกเข้าโรงงาน และมีคนเริ่มสนับสนุนมากขึ้น ทั้งทางโรงงานเองก็ให้การสนับสนุนในเรื่องของเงินลงทุนด้วย

                “ในตอนนั้นมีหลากหลายหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในเรื่องของเงินลงทุนมา และเรื่องปุ๋ยด้วยนะ ทั้งโรงงานด้วย แต่ช่วงแรกเขาก็ไม่ได้คิดดอกเบี้ยอะไรกับเรา คือเขาให้ราคาสหกรณ์มา 80 บาท เขาก็เก็บคืน 80 บาท แต่ก็มีการบวกเล็กบวกน้อยค่าขนส่งบ้าง รถที่เราจ้างขนส่งปาล์มเราก็ขนกลับเอง ก็เหมือนจ้างเขาทุกอย่าง ก็เป็นแบบนี้มานานแล้วครับ”

                สำหรับราคาการขายปาล์มเช่น ถ้าเป็นสมาชิก ราคาปาล์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 4.50 บาท ก็จะไดราคานี้ แต่ถ้าไม่ใช่สมาชิกจะได้แค่ 4 บาท จึงเป็นเหตุให้มีชาวบ้านมามาเป็นสมาชิก เพราะจะได้รวมตัวกันไว้ เมื่อมีการต่อรอง หรือการโก่งราคาก็จะสามารถช่วยกันได้เพราะเรามีสหกรณ์ มีผู้สนับสนุนอย่างถูกต้อง ถือว่าเป็น ฐาน ที่แข็งแรง และมั่นคง พอสมควร

                “สำหรับปาล์มใน อ.นาจะหลวย ของเรา ผมยังไม่สามารถเปรียบเทียบกับทางภาคใต้ได้แน่นอน เพราะผมถือว่าปาล์มผมเพิ่งจะโตปีแรกเอง  เมื่อก่อนมันโตอยู่แค่ไม่กี่ไร่ เพราะเราไปซื้อจากที่อื่นมาด้วย มาปลูกจริงๆในปี 2550 พอปลูกแล้วฝนก็หมด นึกว่าจะไม่โต แต่ก็ยังมีรอดมาได้ ตอนนั้นได้ผลผลิตที่ 2 ตัน/ไร่/ปี”

                ในเรื่องของเมล็ดปาล์มก็ยังต้องซื้ออยู่ เพราะจะมีที่รับซื้อประจำ โดยการสั่งซื้อมาแล้วให้สมาชิกมาซื้อต่อที่สหกรณ์อีกที กลายเป็นว่าทางสหกรณ์เป็นผู้ขายให้กับชาวบ้านในราคาที่ถูก และสมาชิกที่ซื้อไปก็ยอมรับในเรื่องของคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ด้วย

                สำหรับการจะเป็นสถานที่ในการส่งเสริมปาล์มน้ำมันในจังหวัดนั้นยังไม่ได้มีแนวทางในการทำที่แน่นอน ยังคงใช้พื้นที่ 20 จังหวัดของภาคอีสานอยู่โดยการส่งเสริมไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดหนองคาย

                ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรกรรมแบบไหนหรือแม้กระทั่งการปลูกปาล์มเอง ทั้งในภาคอีสาน หรือภาคใต้ ก็ทำให้คนได้รู้ และเริ่มเข้าใจในการปลูกปาล์มมากขึ้น ว่าปลูกเพื่ออะไร แล้วเอาไปใช้อะไรได้ และที่สำคัญสามารถที่จะปลูกในภาคอีสานได้ ทั้งที่บุคคลหลายกลุ่มได้มองเห็นว่าภาคอีสานนั้นปลูกปาล์มน้ำมันไม่ได้ แต่ ณ วันนี้ หลายพื้นที่ในภาคอีสานได้ทำให้เห็นแล้วว่าภาคอีสานก็สามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้เหมือนกัน 

ข้อมูลจากนิตยสารพืชพลังงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น