Translate

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เจาะประเด็นการต่อสู้ สู่ความสำเร็จ ชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตเฮ!! รัฐไฟเขียวประกาศส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมัน (รายแปลง)

เรื่อง/ภาพ : ธันยวีร์ ปลอดภัย

หากนับเวลาตั้งแต่การเรียกร้องสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้ ของชาวสวนปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิตเฉลี่ยคร่าวๆแล้ว กินเวลายาวนานมาถึง 4 ปีเห็นจะได้ หลังจากที่อดีตชาวสวนส้มทุ่งรังสิตฝันสลายไปกับ“ส้ม”ไม้ผลทำเงินที่โด่งดังทั้งประเทศ
นิตยสารพืชพลังงานได้เกาะติด และติดตามเรื่องราวมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีโครงการปลูกพืชทดแทนบนสวนส้มร้างทุ่งรังสิต พร้อมทั้งมีโอกาสบ่อยครั้ง ที่ได้เข้าร่วมการประชุมของชาวสวน หรือ แม้แต่การประชุมของคณะอนุกรรมาธิการในรัฐสภา
หลังจากรับทราบความเป็นมาเป็นไปของเรื่องราวที่ทำให้ชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตเรียกร้องเพื่อขอ ได้รับการประกาศให้เป็นแปลงส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้ผู้เขียนจึงรวบรวม และ ประมวลเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง กรอปกับช่วงต้นปี 2555 ได้รับข่าวดีว่า สวนปาล์มทุ่งรังสิตส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติและประกาศให้เป็นแปลงส่งเสริมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายศักดิ์ศิลป์ โชติสกุล ผ.อ.กลุ่มส่งเสริมการผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน
ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าพบ นายศักดิ์ศิลป์ โชติสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ผู้ที่ถือได้ว่าเป็นบุคลสำคัญอีกท่านหนึ่งที่ได้รับหน้าที่ในการช่วยผลักดัน ทั้งนี้ท่านได้ให้ข้อมูลว่า ปี 2542วิกฤติไบโอดีเซลขาดแคลน ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ระดมความคิดหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว
“ทางกรมส่งเสริมจากที่ได้ปรึกษากันพบว่าหากปล่อยให้มีการปลูกปาล์มน้ำมันเพียงแค่ในเขตภาคใต้และภาคตะวันออกนี้คงไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงเห็นสมควรว่าทดลองปลูกปาล์มในพื้นที่ใหม่นอกเขตที่กระทรวงเกษตรกำหนดไว้ เริ่มที่ จังหวัดหนองคาย ในปี 2545-2546 จำนวน 5 แปลงเพื่อเปรียบเทียบกับภาคใต้”
ปี 2547 ทำการศึกษาในเขตภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี มีเกษตรกรเข้าร่วม 10 ราย และภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี, สุพรรณบุรี จังหวัดละ 10 รายเช่นกัน โดยทำการคัดเลือกเกษตรกรหัวก้าวหน้า ใจสู้ หลังจากนั้นทางราชการกล้าปาล์มน้ำมันสายพันธุ์ดีมาแจกจ่ายให้ นอกจากนั้นยังมีงบประมาณในเรื่องการติดตั้งระบบน้ำ และต้นทุนค่าปุ๋ยให้ในช่วง 3 ปีแรก
เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดจะต้องเข้าประชุมและอบรมร่วมกันเกี่ยวกับขั้นตอนการจัดการสวนเป็นเวลา 3 วัน ต่อมาประมาณเดือนตุลาคม ปี 2547 ทางกรมส่งเสริมได้นำปาล์มน้ำมันสายพันธุ์ เดลิ แอบรอ จากประเทศปาปัวนิวกินีซึ่งนำเข้ามาโดย บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด แล้วนำมาให้เกษตรกรปลูกที่ จ.ปทุมธานีปลูกในพื้นที่10 แปลง แปลงละ 10 ไร่
“ในความเป็นจริงแล้วการซื้อพันธุ์ปาล์มของทางราชการนั้นเราไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ เพราะว่ามีปัญหาในเรื่องจำนวนที่น้อยเพียงแค่ไม่กี่ร้อยต้น เราจึงซื้อพันธุ์ปาล์มมาจาก บริษัท ทักษิณปาล์ม (2521) จำกัด ซึ่งบริษัทนี้เป็นผู้นำเข้าสายปาล์มพันธุ์ เดลิ แอบรอสสายพันธุ์เหล่านี้ทางราชการเห็นว่าเหมาะจะนำมาปลูกในที่ลุ่ม เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ที่ต้องการน้ำมาก แต่จุดด้อยคือ ต้นจะสูงเร็ว ทางใบยาว เราซื้อให้รายละ 25 ต้น/ไร่ ซึ่งโดยปกติแล้วจะปลูก 22 ต้น/ไร่ แต่ว่าสำรองให้อีก 3 ต้น เพื่อเกิดการเสียหายจากหนูเข้ามากัด ในช่วงแรกที่เริ่มต้นโครงการใช้งบไปประมาณไปทั้งหมดเฉลี่ย 440,000 บาท เป็นงบสนับสนุนจากทางกรมส่งเสริมการเกษตร”
ความประสงค์เข้าร่วมโครงการ หรือต้องการปลูกปาล์ม อยากเปลี่ยนอาชีพ สำหรับในส่วนของ จ.ปทุมธานี ทางอำเภอพิจารณาจากตำบลละหนึ่งถึงสองราย จากนั้นชี้แจงและอธิบายถึงศักยภาพในการให้ผลผลิตที่อาจจะได้มากกว่า หรือ น้อยกว่า ทางภาคใต้ ตัวเกษตรกรเองก็ต้องยอมรับความจริง ด้านทางราชการได้สนับสนุนด้านสายพันธุ์ ปุ๋ย และค่าใช้จ่ายบางส่วนในช่วงแรก หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับการใส่ใจ และวิธีการจัดการของแต่ละคนถ้าเกิดเสียหายอะไรเกษตรกรต้องลงทุนเองหากแต่ยังได้รับการช่วยเหลือจากราชการในแง่ของข้อมูลข่าวสารต่างๆ
จากข้อมูลที่ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมฯ ถ่ายถอดมานั้นตีความหมายแบบกระชับได้ว่า เมื่อมีการประชุมจากหน่วยงานราชการแล้วว่าสมควรขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันนอกเขตส่งเสริมไปยังภาคอื่นๆที่เห็นสมควรเพื่อรองรับการนำมาผลิตไบโอดีเซลจากนั้นพุ่งเป้าไปที่ภาคกลาง และภาคตะวันตก โดยสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่จะมาเป็นต้นแบบปลูกปาล์มนอกเขตส่งเสริม
โครงการดังกล่าว ได้รับความสนใจอย่างมากจากเกษตรกรผู้ที่เคยเป็นเจ้าของสวนส้มทุ่งรังสิต จ.ปทุมธานี ซึ่งตอนนั้นได้ล่มสลายไปแล้ว พร้อมทั้งแบกรับหนี้สินกันถ้วนหน้ามากน้อยแล้วแต่บุคคลไป พวกเขาจึงมองหาลู่ทางการทำเกษตรโดยปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า และปลูกบนพื้นที่สวนส้มร้างได้
หลังจากผ่านการสำรวจจนได้ผู้ที่จะเป็นแกนนำ หรือ ผู้นำร่องปลูกปาล์มนอกเขตส่งเสริม ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันที่ว่า ในระยะปลูก 3 ปีแรกทางหน่วยงานจะให้การช่วยเหลือในเรื่องของสายพันธุ์ ค่าปุ๋ย การจัดการระบบน้ำ ตลอดจนการอบรมแนะนำวิธีการจัดการสวนอย่างถูกวิธี จากนั้นให้เกษตรกรดูแลกันเอง หากเกิดความเสียหายหลังจากนั้นเกษตรกรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง
ปี 2548 เจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าเก็บรวบรวมข้อมูลการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับปาล์มน้ำมันในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปรากฏว่าไม่มีความแตกต่างไปในทางที่ด่อยกว่าเลย นอกจากนั้นยังมีปริมาณทางใบที่มากกว่า ต่อมาเข้าสู่ปีที่ 2-3 ปริมาณผลผลิตของทางปทุมธานีและสุราษฎร์ธานี ไม่แตกต่างกัน หากแต่ให้ผลผลิตที่มากกว่า จังหวัดสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
“ทางด้านการแนะนำของทางราชการเราแนะนำว่า เกษตรต้องมีน้ำในร่องคลองไม่ต่ำกว่า 50-60 เซนติเมตร ห่างจากสันร่อง ซึ่งตรงนี้รากของปาล์มน้ำมันจะดูดไปใช้ได้ปาล์มน้ำมันในเขตนี้จึงให้ผลผลิตค่อนข้างดี เมื่อปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตมาปีที่ 4-5 บางรายเก็บผลผลิตได้ถึง 6 ตัน/ไร่/ปี หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4.5 ตัน/ไร่/ปี ซึ่งสูงกว่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ที่มีอยู่ 2.7 ตัน/ไร่/ปี เมื่อมีการเจริญเติบโตจนได้ผลผลิตไปในทางที่ดี เกษตรกรรายอื่นๆก็ปลูกตามเป็นจำนวนมากประกอบกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้การสนใจและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จึงเกิดการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว”
ปาล์มน้ำมันอายุ 7 ปี ที่ปลูกในยุคแรก (ปี 2547) บนร่องส้มเดิม
ของนายอักษร น้อยสว่าง ประธานชมรมผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต 
จากการประเมินผลเบื้องต้นทำให้ทราบว่า ปาล์มน้ำมันที่ปลูกในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานีสามารถให้ผลผลิตได้ไม่แตกต่างจากภาคใต้นั่นเพราะอดีตชาวสวนส้มจังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่เป็นคูคลอง มีร่องน้ำ และน้ำอุดมสมบูรณ์สามารถสูบน้ำเข้า หรือ ระบายน้ำออกได้ตลอดเวลาตามความต้องการ
พื้นที่สวนส้มร้างภาคกลาง หรือ ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีของคนในวงการว่า “ส้มรังสิต” เดิมทุ่งรังสิตเคยเป็นแผ่นดินทองสร้างอาชีพ และรายได้ให้เจ้าของพื้นที่อย่างมหาศาลจากการปลูกและจำหน่ายส้ม แต่ “เหมือนฟ้าไม่มีตา” ดลให้เกิดการระบาดอย่างหนักชาวสวนส้มที่เคยรุ่งเรืองเริ่มถดถอย และเริ่มรับมือไม่ไหวกับโรคระบาด จากที่เคยโกยเงินเข้ากระเป๋าเดือนละหลายหมื่นก็กลายเป็นหนี้สินรุงรัง
ปี 2547 มีการส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้ประจวบเหมาะกับที่เกษตรกรชาวทุ่งรังสิตกำลังมองหาพืชที่เข้ามาสร้างรายได้พอดี จากจุดเริ่มต้นจวบจนปัจจุบันนี้พื้นที่ปลูกปาล์มเขตทุ่งรังสิตเฉลี่ยกว่า 15,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดได้แก่ จ.ปทุมธานี ประกอบไปด้วย อ.นองเสือ อ.คลองหลวง อ.ธัญบุรี อ.ลำลูกกา จ.นครนายก ประกอบไปด้วย อ.บ้านนา อ.องค์รัก จ.สระบุรี ประกอบด้วย อ.หนองแค อ.วิหารแดง และ จ.พระนครศรีอยุธยา ประกอบด้วย อ.วังน้อย อ.อุทัย 
จากการรวบรวมข้อมูลการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมันในเขตทุ่งรังสิต เป็นไปในทางที่ดีทำให้หลายหน่วยงานเข้าไปศึกษา พร้อมทั้งเก็บข้อมูลทั้งสภาพพื้นที่ อากาศ และอื่นๆอีกครั้งอย่างละเอียด
“ทางกรมพัฒนาที่ดินได้ศึกษาลักษณะของดิน เพราะดินในเขตทุ่งรังสิตเป็นดินเปรี้ยว จากนั้นหาวิธีการแก้ไขก่อนปลูกปาล์ม  ด้านกรมวิชาการเกษตรฯได้นำพันธุ์ปาล์มต่างๆเข้ามาทดลองในเขตพื้นที่ สุดท้ายมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้ทำแปลงศึกษาอยู่ที่นี้เหมือนกันหลายๆหน่วยงานเข้ามารวมกัน”
จุดเด่น จุดด่อย ในการปลูก และ ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต
ผอ.ศักดิ์ศิลป์ให้ข้อมูลต่อว่าปาล์มน้ำมันที่ปลูกในเขตทุ่งรังสิตค่อนข้างได้เปรียบหลายด้าน ยกตัวอย่าง ปริมาณแสงแดดที่จัดกว่าภาคใต้ หมายความว่าความเข้มของแสงมากกว่า เพราะปริมาณของเมฆที่ลอยอยู่จะน้อยกว่าในเขตภาคใต้ฉะนั้นปาล์มจะได้รับแสงแดดเต็มที่ นอกจากนั้นปริมาณแร่ธาตุบางตัวที่สะสมอยู่ในดินสมัยทำสวนส้มมีมากและเพียงพอ อาจจะมีเสริมบ้างในตัวที่จำเป็น หลังจากตรวจเช็คดินแล้วจะทราบปริมาณแร่ธาตุในดินแล้วใส่เฉพาะตัวที่ขาดก็พอ ทั้งนี้ช่วยให้ลดต้นทุนด้านปุ๋ยได้มากด้วย
จุดแข็งอีกด้านคือปริมาณน้ำที่มีอย่างสม่ำเสมอ อดีตชาวสวนส้มทุ่งรังสิตจะมีความพร้อมในเรื่องของปริมาณน้ำคูคลอง ร่องสวน และเรือรดน้ำ เครื่องสูบน้ำ เขาสามารถสูบน้ำเข้า หรือ ระบายน้ำออกได้ตลอดเวลา ดังนั้นจะสามารถควบคุมน้ำได้ผลผลิตจึงสูง
“เกษตรกรที่นี่เป็นคนใจสู้หัวก้าวหน้าและเคยปลูกส้มมาก่อนพวกเขาจะหัวไวกว่ามาก ในการเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น” ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมันกล่าวอย่างชื่นชม
สำหรับสิ่งที่เป็นจุดด่อย คือ ทุ่งรังสิตเป็นพื้นที่นอกเขตส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมัน และเมื่อมีการทดลองให้ปลูกจึงเป็นพื้นที่ใหม่ และเป็นปาล์มรุ่นใหม่รุ่นเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อถึงช่วงออกช่อดอกตัวผู้หรือออกช่อดอกตัวเมีย ทำให้ไม่มีความหลากหลายของช่วงอายุมีโอกาสที่จะผสมพันธุ์ไม่ติด ฝ่อ ไม่เต็มทะลาย เนื่องจากไม่มีความหลากหลายของเชื้อพันธุ์เข้าไปผสมเกสรเพื่อให้ได้ทะลายที่สมบูรณ์
นอกจากนั้นในย่านทุ่งรังสิตยังไม่มีโรงงานรับซื้อผลผลิตอยู่ใกล้เคียง ทำให้ต้องขนส่งไปไกลถึง จ.ชลบุรี แต่ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทเอกชนมาเปิดลานรับซื้อและรวบรวมผลผลิต ก่อนนำส่งเข้าโรงงานที่ จ.ชลบุรีอีกที ซึ่งก็สามารถช่วยลดค่าขนส่งให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี
มีพ่อค้าเป็นบริษัทเอกชน 2 ราย มาเปิดลานรับซื้อในเขตทุ่งรังสิต เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งเยอะ ในอนาคตหากมีโรงงานมาตั้งอยู่ที่นี่ ผมคิดว่ามันจะดีกว่า แต่จะหาคนมาลงทุนค่อนข้างยากเพราะถ้าจะตั้งโรงงานต้องรวบรวมพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันประมาณ 3-4 หมื่นไร่ถึงจะคุ้ม
ต้นทุนการผลิตต่อไร่เมื่อเปรียบเทียบกับทางภาคใต้
ด้วยความเป็นต่อในเรื่องน้ำ ทำให้ต้นทุนที่ควรจะเป็นภาระหนักถูกสลัดทิ้งไป สำหรับต้นทุนในด้านปุ๋ยก็ไม่น่าวิตกเช่นกัน เพราะธาตุอาหารที่ยังตกค้างในดินที่ยังมีอยู่มาก ทำให้การใส่ปุ๋ยน้อยลง แต่ต้องมีการปรับสภาพดินอย่างหนักด้วยปูนค่อนข้างมากเนื่องจากดินเป็นกรดจัด หากเกษตรกรไม่ศึกษาทำความเข้าใจ หรือแก้ไขอย่างถูกวิธีอาจส่งผลให้ผลผลิตตกต่ำได้ เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ในช่วงปาล์มอายุ 6-7 ปี ปาล์มน้ำมันในเขตทุ่งรังสิตค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจมากกว่า เพราะเฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ต่อปีในเขตภาคใต้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 - 3 ตัน/ไร่/ปี ในขณะที่ผลผลิตปาล์มที่ทุกรังสิตเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 ตัน
ชาวทุ่งรังสิตเรียกร้องขอประกาศเป็นเขตส่งเสริมปลูกปาล์ม เพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ปลดหนี้เดิม
หลังจากนั้นมาอีก 6 ปี อดีตชาวสวนส้มทุ่งรังสิตกลับมาสร้างชื่ออีกครั้งด้วยพืชตัวใหม่อย่าง “ปาล์มน้ำมัน” แม้ว่าจะเป็นมือใหม่สำหรับการทำสวนปาล์ม หากแต่สามารถจัดการบริหารจนเก็บผลผลิตได้เฉลี่ย 4-6 ตันต่อไร่ต่อปีต่อมาผู้ปลูกปาล์มทุ่งรังสิตได้รวมตัวกันเป็น “ชมรมผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต” เพื่อระดมความรู้ความเข้าใจ พร้อมทั้งนำปัญหาเข้ามาปรึกษาหารือกันเพื่อหาแนวทางแก้ไข
เมื่อปาล์มโตขึ้นจนเก็บผลผลิตจำหน่ายได้ชาวสวนพบว่าพวกเขาได้เดินมาถูกทางเพราะจากการตัดปาล์มจำหน่ายสามารถทำให้มีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนได้ดีขึ้น บางรายถึงขั้นนำเงินที่ได้ไปผ่อนชำระหนี้สินได้
“การร้องขอให้ทางราชการประกาศพื้นที่ปลูกปาล์มทุ่งรังสิตเป็นเขตส่งเสริมเนื่องจากเดิมชาวบ้านเสียหายในเรื่องของส้มมานานมาตั้งแต่ปี 2540-2541 เป็นหนี้ส้มอยู่ประมาณหลายๆล้านบาทแต่ว่าชาวบ้านก็ปลูกพริกปลูกมะเขือปลูกผักพอได้เลี้ยงชีพไปวันๆว่าจะขอกู้เงินจากธ.ก.ส. และขอปรับโครงสร้างหนี้ แต่ทางหน่วยงาน ธ.ก.ส.ก็ไม่สามารถดำเนินเรื่องได้เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้ประกอบอาชีพหรือเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ”
จุดเริ่มต้นของการเรียงร้องสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้จึงค่อยๆก่อตัวขึ้น หลังจากพวกเขาแสดงให้เห็นแล้วว่าได้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ที่ดีได้แล้ว และชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตยิ่งจับมืออย่างเหนียวแน่นขึ้น โดยมีการประชุมกันทุกเดือน เพราะพวกเขาเชื่อว่าหากพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันการได้รับส่งเสริมอย่างเป็นทางการ เปิดกว้างให้หน่วยงานเอกชนอื่นๆเข้ามาเสนอปัจจัยการผลิตมากขึ้น
ธ.ก.ส. หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ไม่สามารถให้เงินกู้กับเกษตรกรได้โดยให้เหตุผลว่า ตราบใดที่กระทรวงเกษตรฯไม่ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตส่งเสริม จึงหันมาสนับสนุนโครงการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันดังกล่าว และถ้าได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมแล้วเกษตรกรในพื้นที่ จึงจะสามารถกู้เงินมาลงทุนประกอบอาชีพที่มั่นคง มีรายได้จากการขายปาล์มน้ำมันทุกเดือน และสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้เกษตรกรก็จะมีรายได้จากการขายปาล์มน้ำมัน สร้างให้เกษตรกรมีอาชีพที่ยั่งยืนขึ้น
เกษตรกรได้ร้องขอให้กระทรวงเกษตรฯประกาศเป็นเขตส่งเสริม ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯก็แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ เช่นตรวจเช็คความเป็นกรด-ด่าง ของดิน สำรวจแปลงที่ปรับปรุงจากสวนส้มมาปลูกปาล์ม สำหรับแปลงที่ปลูกส้มมาก่อนจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ แต่สำหรับแปลงปลูกที่ดันแปลงขึ้นมาใหม่ที่จากเดิมอาจเป็นพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมอื่นๆอีก เป็นต้น
กรมส่งเสริมฯได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินงานด้านนี้โดยตรง แต่ในที่สุดผ่านมา3 ปีกว่า เปลี่ยนคณะทำงานมา 3-4 ชุด ก็ไม่มีความคืบหน้าอะไรเกิดขึ้นเกษตรกรทนไม่ได้จึงร้องเรียนไปไปยังดร. ไพรบูลย์ซำศิริพงษ์สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปทุมธานี ต่อมา สว.ไพรบูลย์จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้คำชี้แจงเรื่องราวเป็นมาว่าอย่างไรหลังจากได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรนักการเมืองท้องถิ่นท่านนี้ยังติดตามผลงานอยู่ตลอดเวลาพร้อมทั้งมีการเรียกประชุมรายงานการดำเนินงานแทบทุกเดือนตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมาหลังจากนั้นไม่นานคณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติได้เห็นสมควร และอนุมัติให้พื้นที่ปลูกปาล์มทุ่งรังสิตเป็นพื้นที่ส่งเสริมเฉพาะรายแปลงอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา
เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต
แกนนำในการต่อสู้เพื่อประกาศพื้นที่ปลูกปาล์มทุ่งรังสิต
เหตุผลที่ประกาศเป็นรายแปลงนั้น เนื่องจากแต่ละแปลงมีสภาพที่แตกต่างกันส่วนใหญ่จะเป็นร่องส้ม ซึ่งสวนส้มบางแปลงมีการปรับสภาพพื้นที่มานานแล้วดินที่เคยเป็นกรดจัด ก็ได้รับการปรับสภาพดินให้ดินมีความเป็นกรดน้อยลงเพื่อให้เหมาะสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน เมื่อแปลงเหล่านั้นผ่านการตรวจสอบจากกรมพัฒนาที่ดินเรียบร้อย และได้รับคำยืนยันว่าสามารถปลูกได้จะมีสิทธิ์ได้รับการประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมได้
ด้านกระทรวงเกษตรฯได้ให้เกษตรกรขึ้นทะเบียน แจ้งความประสงค์ที่จะปลูกปาล์มน้ำมันแจ้งจำนวนแปลงที่ปลูกเป็นต้น จากการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้รอบแรกได้รับการลงทะเบียนเป็นแปลงส่งเสริมไปแล้ว109 ราย (นับจากจำนวนผู้ปลูก) สำหรับเกษตรกรบางรายที่ยังไม่ได้ประกาศเนื่องจากข้อมูลบางส่วนอาจจะยังไม่ครบซึ่งมีผู้ที่ยังขาดหลักฐานอีก 226 ราย แต่คณะทำงานก็เร่งรวบรวมข้อมูลที่ขาดแล้วนำไปส่งให้ทางราชการวิเคราะห์ เมื่อคณะอำนวยการเพื่อจะดูหลักฐานดูรายละเอียดเพื่อจะส่งให้กระทรวงประกาศฯเป็นลำดับต่อไป
เมื่อผู้เขียนถามว่า อะไรคือสาเหตุให้การดำเนินงานที่ล่าช้า ผอ.ศักดิ์ศิลป์ ให้คำตอบว่า “ติดตรงที่ระบบราชการเองครับ เมื่อเกษตรกรไปร้องเรียนกับกระทรวงเกษตรฯ แล้วกระทรวงเกษตรฯก็แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ซึ่งประกอบด้วยทางผู้แทนหลายๆหน่วยงานแต่ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบไม่มีเวลามากพอที่จะลงมาศึกษาข้อมูลตรงนั้นมันก็เลยดึงเกมมาระยะหนึ่ง ต่อมาได้เปลี่ยนชุดใหม่สุดท้ายเมื่อได้กำลังเสริมจากการ ผลักดันของท่านสว.ไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ อย่างต่อเนื่องจึงสำเร็จในที่สุด รวมแล้วเราใช้คณะทำงานถึง 3ชุดในกรอบเวลาเกือบ 4 ปีสำหรับผมเองก็อยู่ร่วมในการดำเนินงานมาตั้งแต่เริ่มต้นแต่ไม่ได้เป็นหัวหน้าคณะดำเนินงาน จะเป็นทีมเสริมมากกว่า”
ปัจจุบันปาล์มน้ำมันที่อยู่ในเขตทุ่งรังสิตได้รับประกาศเป็นแปลงส่งเสริมไปแล้วกว่า 15,000 ไร่ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมัน เผยตัวเลขกลมๆว่าน่าจะประกาศเขตได้ 100,000 ไร่ เพราะยังมีอยู่อีกประมาณ 4,000-5,000 ไร่ที่ยังไม่ได้ประกาศเป็นแปลงส่งเสริมฯและประเด็นสำคัญคือยังมีเกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมัน หากแต่อยู่นอกพื้นที่เจ้าของสวนมีบ้านพักอยู่นอกพื้นที่ อาจอยู่ต่างจังหวัด รวมไปถึงขาดการได้รับข้อมูลข่าวสาร ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลไม่ได้ ทำให้เขาพลาดโอกาสตรงนี้ไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผอ.ศักศิลป์ กล่าวอย่างหนักแน่นว่าต่อไปในอนาคตจะรวบรวมข้อมูลให้ได้ทั้งหมดเพื่อเป็นการเก็บข้อมูลตรงกับความเป็นจริง ซึ่งจะทำให้คำนวณผลผลิต ต้นทุน หรือกรณีอาจได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เป็นต้น
ชาวสวนปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต แม้จะมือใหม่ในการปลูกปาล์มน้ำมันเมื่อเทียบประสบการณ์กว่าสิบๆปีของคนภาคใต้ หากแต่พวกเขามีความ“เก๋า” พอที่จัดการสวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชาวสวนปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต คือ อดีต “เซียนส้ม” ทุ่งรังสิต พืชที่ได้ชื่อว่าเอาใจยากมากการจัดการดูแลที่จุกจิก ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อถึงช่วงเก็บผลจำหน่าย ราคาที่ขึ้นๆลงๆเอาแน่นนอนอะไรไม่ได้ ผลผลิตเก็บไว้นานก็ไม่ได้ พูดง่ายๆว่าปัญหาเยอะมาก แต่พวกเขาก็ยึดอาชีพดังกล่าวมาได้เป็นเวลานานก่อนจะ “สิโรราบ” ให้กับ“กองทัพโรคส้มระบาด” อย่าง โรครากเน่า ผลเน่า ผลส้มร่วงหล่น ทำให้เกษตรกรเสียหายและต่างสิ้นเนื้อประดาตัว หนี้สินพะรุงพะรัง
“เกษตรกรทุ่งรังสิตที่มีความทะเยอทะยานมีความใฝ่รู้ เขาหาความรู้ได้รวดเร็วมากในเมื่อเขาปลูกปาล์มเขาพยายามหาความรู้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นใครมีข้อมูลอะไรใหม่ๆเขาจะศึกษากันตลอด ช่วงหลังมีบริษัทเอกชนเข้ามาไม่ว่าจะเรื่องของบริษัทพันธุ์ปาล์มบริษัทปุ๋ย-ยาและหน่วยงานราชการอีก 3-4 หน่วยงานลงไปในพื้นที่ต่างก็ให้ข้อมูลกับเกษตรกร ฉะนั้นเกษตรคงจะได้ข้อมูลความรู้ค่อนข้างมากเพราะพวกเขาเป็นคนหัวไวอยู่แล้วแต่สิ่งหนึ่งที่เรากำลังวิตกก็คือด้วยความรู้มากๆเหล่านี้เกษตรกรบางรายอาจจะอยากรู้อยากลอง เพราะบางครั้งอาจจะใช้ปุ๋ยใช้สารเร่งใช้ฮอร์โมล มากไปซึ่งตรงนั้นบางครั้งอาจจะส่งผลให้ผลผลิต หรือการเจริญเติบโตเสียหายได้”
ผอ.ศักดิ์ศิลป์ ออกปากชื่นชมอดีตชาวสวนส้มทุ่งรังสิต ที่ปัจจุบันกำลังกู้ชื่อเสียงกลับมาอีกครั้งด้วยการจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ และผลผลิตต่อไร่เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมาก พร้อมแสดงความเป็นห่วงในการทดลองผลิตภัณฑ์ต่างๆที่บริษัทเอกชนเข้ามาเสนอ
“ถึงแม้เราจะได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ แต่เกษตรกรเองก็ต้องใส่ใจการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะปาล์มที่นี่จะโตและสูงเร็วกว่าในเขตภาคใต้ต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตบ่อยครั้งขึ้นตรงนี้ดูแลใส่ปุ๋ยอย่างเต็มที่  สำหรับเกษตรกรนอกเขตที่ไม่ใช่ในเขตทุ่งรังสิตไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือผมค่อนข้างเป็นห่วงเพราะว่าเกษตรกรก็อยากจะรวยเหมือนในเขตภาคใต้หรือทุ่งรังสิตก็จะปลูกปาล์มกันมากขึ้นแม้ในบางพื้นที่สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมขาดน้ำแล้งจัดผลผลิตก็จะต่ำทำให้การลงทุนเสียเปล่าจึงอยากให้พิจารณาให้ดี หาข้อมูลให้มากก่อนจะลงมือปลูก”
ความรู้สึกของผู้ที่ใช้ “ขาสองข้างยืนอยู่บนเรือคนละลำ” ความกดดันแม้จะมีบ้าง แต่ต่างคนก็ต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ที่สุด ผอ.ศักดิ์ศิลป์ผู้ที่ได้รับหน้าที่ในเรื่องการผลักดันชาวสวนปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิตให้เป็นแปลงส่งเสริมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีบ่อยครั้งที่มีกระทบกระทั่งกันบ้างกับเกษตรกร แต่สุดท้ายแล้วทุกข้อขัดแย้งจะจบที่ห้องประชุม และกลับมาเป็นเหมือนพี่น้องกันเหมือนเดิม

ก่อนที่จะปิดการสัมภาษณ์พิเศษเขาได้กล่าวความรู้สึกในใจฝากถึงพี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตว่า
“กว่า 30 ปีที่ผมรับผิดชอบเรื่องปาล์มน้ำมันในประเทศไทยมา ผมภูมิใจที่ได้ทำงานในเขตจังหวัดปทุมธานี ด้านการบุกเบิกตั้งแต่เป็นพื้นที่ทดลองปลูกนอกเขต เราเป็นคนเริ่มต้นจากศูนย์มาถึงปัจจุบันนี้เกษตรกรก็เชิดหน้าชูตาได้ ผมกับเกษตรกรทุ่งรังสิตมีความผูกพันกันมาก เวลาผมเข้าไปแต่ละครั้งก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากพี่น้องเกษตรกรบ้างครั้งในการประชุมกรรมาธิการก็ดีอาจจะมีการกระทบกระทั่งกันบ้างในเรื่องของการเสนอความคิดเห็นพี่น้องเกษตรกรเองอาจจะใจร้อนให้ทางราชการรีบทำอะไรสักอย่างด้วยความเร็วซึ่งทางราชการเองก็มีระบบระเบียบและขั้นตอนบางครั้งพี่น้องเกษตรกรอาจจะไม่พอใจก็ไม่โกรธเพราะในเรื่องของห้องประชุมก็จบกันแล้วนอกห้องประชุมเราก็ยังเป็นพี่น้องกันเคารพรักกันเหมือนเดิมครับ”
นี่คือที่มาของ“แปลงส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันในเขตทุ่งรังสิต”ที่กว่าจะฝ่าฟันมาได้ต้องใช้เวลา 3-4 ปี แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่ได้สูญเปล่า

ขอขอบคุณ
นายศักดิ์ศิลป์ โชติสกุล โทร.08-1830-1035
ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตยางพารา และปาล์มน้ำมัน
กรมส่งเสริมการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ 


ข้อมูลจาก : นิตยสารพืชพลังงาน ฉบับที่ 49/2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น