Translate

วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประมวลองค์ความรู้สู่ พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ตอนที่ 1

เรื่อง/ภาพ : พยัคฆ์ทมิฬ

ไม่ง่ายนักที่จะรวบรวมคนระดับหัวกระทิของวงการปาล์มน้ำมันมานั่งจับเข่าคุยกันครึ่งค่อนวัน เพราะแต่ละท่านล้วนแล้วแต่มีภาระหน้าที่อีกมากมาย และแต่ละท่านก็อยู่ในพื้นที่นอกเขตกรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่
นิมิตหมายอันดีที่เราได้คนในวงการปาล์มน้ำมันมาประมวลองค์ความรู้ต่างๆด้านปาล์มน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ตลอดจนแนวทางในการแก้ปัญหาที่ควรจะเกิดขึ้น

  
ผู้เข้าร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ประกอบไปด้วย สุคนธ์ เฉลิมพิพัฒน์ รองนายกสมาคมชาวสวนปาล์มจังหวัดสุราษฎร์ธานี, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิปาล์มน้ำมันแห่งชาติ, น.ต.ถนิต พรหมสถิต ประธานบริหารสมัชชาเกษตรกรแห่งชาติ, นายอรชุน แก้วกังวาน ผู้ผลิตเครื่องหีบน้ำมันสบู่ดำอาชีพ, พล.ต.ต.ศานิตย์ มีพันธุ์ ที่ปรึกษากิตมศักดิ์นิตยสารพืชพลังงาน, นายอธิราษฎร์ ดำดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดำดีไบโอดีเซล จำกัด. นายชลิต ระวังภัย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดระนอง, นายสัญญา ปานสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร, นายอำพล แดงบรรจง บริษัท สินธุเศรษฐ์ จำกัด, นายสุระ ตั๊นวิเศษ ฝ่ายส่งเสริมวิชาการ ตัวแทนจาก บริษัท สุขสมบูรณ์ น้ำมันปาล์ม จำกัด, นายมนัส พุทธรัตน์, นายเทวิน เจริญนนท์สิทธิ์ แกนนำชาวสวนปาล์มน้ำมันหนองเสือ, นายสุวิทย์ พยัพพานนท์ อุตสาหกรรมจังหวัดระนอง และท่านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

เรื่องราวมากมายที่ได้ถูกนำมาถ่ายถอดและประมวลในที่เสวนาในกรอบเวลากว่า 5 ชั่วโมง ผู้เขียนขออนุญาตสรุป 5ประเด็นเด่นๆมาให้ทุกท่านได้ติดตามความเคลื่อนไหวและทิศทางที่ระดับแกนนำได้ปรึกษากันมาให้ทราบโดยเริ่มจาก

1.ทางรอดของการทำเกษตรภายใต้กรอบการเมือง

 เปิดประเด็นการเสวนาด้วยเรื่องของภาคการเมืองที่เน้นว่า ตราบใดที่ยังประกอบกิจการ หรือทำธุรกรรมต่างๆภายในประเทศไทย พ่อค้า แม่ค้า หรือนักธุรกิจทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้กรอบการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้นการเปิดเวที เพื่อประมวลองค์ความรู้และแนวทางต่างๆ ให้เป็น ช่องทางเลือก และ ช่องทางรอด ของคนภาคเกษตรโดยเฉพาะเรื่องของ ปาล์มน้ำมัน เพื่อใส่เข้าไปในอำนาจรัฐ นับว่าเป็นการจุดประกาย และกระตุ้นให้เกษตรกรตื่นรู้ระบบทุน ซึ่งทางบอร์ดปาล์มได้ไฟเขียวให้มีการยกร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันแห่งชาติออกมา

น.ต.ถนิต พรหมสถิต ประธานบริหารสมัชชาเกษตรกรแห่งชาติ นักสู้ที่ลุยมาทุกสนามเพื่อเรียกร้องความถูกต้อง โดยเฉพาะในภาคของการเกษตร กล่าวเสริมว่า การทำเกษตรเพรียวๆ หรือเกษตรประณีตส่วนมากไปไม่รอด และยิ่งถ้าเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเกษตรอย่างเดียวโดยไม่มีเงื่อนไขอื่น “มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง” แกนนำเกษตรกร หรือ เกษตรกรเองต้องกลับมามองว่าทำอย่างไรให้อยู่ได้ เมื่อต้องเข้าอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร หรือ การเกษตรอุตสาหกรรม ทุกเงื่อนไขต้องอยู่ที่เกษตรกร นั่นหมายความว่า ทุกภาคส่วนของการต่อรองต้องอยู่ที่เกษตรกรด้วย เช่น การเมืองของปาล์มน้ำมัน ข้อเสนอที่เรียกร้องต้องตั้งกติกาว่า หากเมื่อได้เสนอแล้วต้องได้ตามที่เสนอ ซึ่งตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าข้อเรียกร้องและข้อเสนอนั้น ต้องเป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วม เป็นต้น

“จากประสบการณ์ที่ผมอยู่ในวงการนี้ มีอะไรหลายๆอย่างที่อยากจะเรียนให้ทราบ เราพูดกันมาหลายเวที และก็พูดกันมานานเกี่ยวกับเรื่องของปาล์มน้ำมัน ที่ผ่านมาทั้งๆที่โรงงานไบโอดีเซลสู้กันแบบเลือดตกยางออก เพื่อช่วงชิงวัตถุดิบเข้ากระบวนการหีบ จนละเลยถึงคุณภาพส่งผลให้ต้นทุนในกระบวนการหีบเพิ่มขึ้น ขณะที่คุณภาพของ CPO ต่ำกว่ามาตรฐาน ผลเสียย้อนกลับมาสู้เกษตรกรอีกเหมือนเดิม ซ้ำร้ายกว่านั้นมาตรการควบคุม และบทลงโทษต่างๆไม่มี นั่นจึงทำให้ปัญหานี้ไม่ถูกแก้ไขสักที ผมเสนอว่าทำอย่างไรก็ได้ทำให้เกิดคลัสเตอร์ปาล์มน้ำมันขึ้นให้ได้ แล้วปัญหาดังกล่าวจะค่อยๆลดน้อยลง” เขากล่าว

2.การสร้างอำนาจภาคเกษตรกรด้วยการรวมตัวที่เข้มแข็ง

นายชลิต ระวังภัย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดระนอง 
เมื่อพูดถึงการรวมกลุ่มคงขาดไม่ได้ด้านของสมาคมชาวสวนปาล์ม ชมรม ต่างๆ พร้อมทั้งผู้นำที่เข้มแข็ง นั่นเป็นกลุ่มคนที่มีพลังในการต่อรองอย่างมาก และจะยิ่งแข็งแกร่งกว่านี้ถ้าทุกสมาคมและทุกชมรมจับมือกันเป็นเครือข่าย

นายชลิต ระวังภัย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดระนอง ผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นเกษตรกรต้นแบบตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การันตีด้วยผลงานการทำสวนปาล์มน้ำมันแบบผสมผสานจนสร้างรายได้เกือบล้านบาท/ปี ไม่บ่อยนักที่บุคคลท่านนี้จะสบโอกาสเหมาะให้ทีมงานได้เชิญเข้าร่วมงานประชุม หรือเสวนาต่างๆ เพราะด้วยภาระหน้าที่ที่อัดแน่นอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามประธานสภาเกษตรจังหวัดระนองยังปลีกตัวมาเข้าร่วมงานเสวนาของเราจนได้พร้อมย้ำถึงพลังในการร่วมตัวอย่างเข้มแข็ง กล่าวถึงเรื่องการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองว่าเมื่อคณะนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติเปิดโอกาสให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการร่างพระราชบัญญัติ เพื่อกำหมดมาตรฐานต่างๆทั้งระบบของปาล์มน้ำมัน ข้อเสนอต่างๆจะหนักแน่นพอต้องสร้างอำนาจในการต่อรองเกษตรกรต้องรวมตัวกันให้เข้มแข็งร่วมกับสภาเกษตรที่เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นมั่นใจว่าเป็นเสียงที่รัฐบาลต้องฟัง

                ด้าน นายสัญญา ปานสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร ควบด้วยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิบอร์ดปาล์มน้ำมันแห่งชาติ จุดที่เขายืนอยู่ถือว่าเป็นความหวังชาวสวนปาล์มได้มากทีเดียว เพราะอย่างน้อยก็มีตัวแทนของเกษตรกรเข้าไปบอร์ดปาล์มบ้าง

ขุนศึกจากแดนใต้ท่านนี้เป็นอีกหนึ่งท่านที่เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้พี่น้องชาวสวนปาล์มอยู่ตลอด และครั้งนี้ก็เช่นกันที่เขาได้ให้ความสำคัญแม้ว่าจะเป็นเสวนาที่ไม่ใหญ่โตเท่าไรแต่จากที่ผู้เขียนได้ยินคำพูดจากเขาว่า “การประชุมทุกครั้งย่อมมีความสำคัญเสมอ แม้แต่การนั่งปรึกษากันเพียง 2-3 คนก็ยังสำคัญ” และนั่นจึงเห็น นายสัญญา ปานสวี นั้นอยู่ในงานเสวนาครั้งนี้ด้วย

นายสัญญา ปานสวี นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร 
นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดชุมพร เป็นนักต่อสู้อารมณ์ดีเขาสามารถกู้สถานการณ์ตรึงเครียดในที่ประชุมให้กลับมามีเสียงหัวเราะได้ตลอด ด้วยลีลาการเสวนาอันเป็นประโยชน์ที่แฝงไปด้วยมุขเปรียบเปรยที่เรียกรอยยิ้มจากทุกคนได้นั้นไม่ได้ทำให้เรื่องที่นำเสนอออกมาเป็นเรื่องไร้สาระ ในทางกลับกันเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นข้อมูลที่น่าสนใจทั้งนั้น

นายสัญญา เปิดประเด็น เรื่องที่ 1ในที่ประชุมว่า “เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” นั่นคือ ต้องการให้เกษตรกรได้มีอำนาจที่จะพัฒนาในระบบประชาธิปไตย ถ้าไม่มีอำนาจ เกษตรกรก็ไม่สามารถเจริญก้าวหน้า หรือควบคุมเศรษฐกิจได้ ทำอย่างไรที่จะให้เกษตรกรเหล่านั้นได้มีโอกาสที่จะพัฒนาของภาคประชาชนมีองค์กรของภาครัฐเข้าไปตั้งโดยเป็นสภาพัฒนาการเมืองภาคพลเมือง ซึ่งหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลแต่เกษตรกรจัดตั้งทีมงานขึ้นมาดูแลกันเอง เป็นขุมกำลังในการระดมความคิด คิดว่าจะได้ไปใช้ตรงนั้นให้เกิดประโยชน์ แต่ถ้าเมื่อใดเกษตรกรอ่อนแอและไม่มีโอกาสเรียนรู้ รับรู้ องค์ความรู้ที่จำเป็นทั้งหมดเขาก็จะไม่สามารถประสานความคิดเดิม และตั้งอุดมการณ์ของภาคประชาชนให้เข้มแข็งได้เพราะฉะนั้นนายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันชุมพร จึงมีความประสงค์อยากสร้างแนวทางที่จะปฏิบัติเป็นลำดับขั้น เพื่อจะไม่ให้ทำงานซ้ำซากวกไปวนมา หลังจากนั้นควรมีการประเมินผลการทำงานทุกไตรมาสด้วย

                เรื่องที่ 2 “กฎหมายปาล์ม” เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาอย่างเร่งด่วนคือ ปาล์มเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องกำหนดให้เป็นกฎหมายที่ใช้กับปาล์มน้ำมัน เพราะว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจระดับชาติ อีกทั้งเป็นพืชพลังงานและพืชอาหาร ตลอดจนเป็นวัตถุดิบตั้งต้นที่จะขยายบทบาทไปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆอีกมากมาย

“ในฐานะที่ผมเป็นนายยกสมาคมชาวสวนปาล์มจังหวัดชุมพร ผมมองว่ากลไกลทั้งหมดนี้สมควรให้ภาครัฐเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เมื่อไม่มีการดูและหลายๆส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบปาล์มน้ำมันทั้งหมดจะเป็นเหมือนมือใครยาวสาวได้สาวเอา ผมไม่อยากให้เป็นระบบทุนนิยม ผมต้องการให้เป็นแบบอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงาน และชาวสวน”

                เรื่องที่ 3 “ลานเท” งานที่อยู่นอกเหนือระบบของรัฐบาล ทำให้ขาดผู้สอดส่องดูแลจึงทำให้มีปัญหาเรื่องของมาตรฐานของลานเท บางลานมีการรดน้ำเพื่อแยกลูกร่วงแล้วนำไปส่งเข้าโรงสกัดที่เปิดรับซื้อลูกร่วง ซึ่งกระบวนการนั้นก่อให้เกิดกรดจนส่งผลให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ เมื่อมองดูแล้วเหมือนกับการหาผลกำไรของลานเท จุดนี้ถือว่าเป็น “ความเสื่อม” ที่ฉุดให้สู้กับต่างประเทศไม่ได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นควรเร่งตรวจสอบและพัฒนาโรงสกัดลูกร่วงให้มีคุณภาพมากกว่านี้ ผลกระทบสืบเนื่องที่เกิดขึ้นเมื่อลานที่รับซื้อลูกร่วงไม่มีกฎหมายควบคุม เกษตรกรเมื่อเห็นว่ามีแหล่งรับซื้อก็จะเกิดการนำปาล์มไม่ได้คุณภาพมาจำหน่าย เป็นเหตุให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ แล้วนำจุดนั้นมาตั้งเป็นราคารับซื้อ กดเกษตรกรลงไปอีก เพราะฉะนั้นกลไกลตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำต้องมีกฎหมายควบคุมในการกำหนดราคาระหว่าง เกษตรกร ลาน และโรงสกัด เป็นต้น

“มีโรงงานสกัดขนาดเล็ก ที่พร้อมรับซื้อในราคาสูง ลานก็รดน้ำเพื่อทำเป็นลูกร่วงมาขาย ปัญหาควรที่จะเร่งเข้าไปดูแลตลอดจนเข้าไปดูแลโรงงานที่รับซื้อเฉพาะลูกร่วง นอกจากนั้นโรงงานบางแห่งยังใช้ไม้ฝืนเป็นวัตถุดิบในกระบวนการย่าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็ง สิ่งเหล่านี้เราไม่ควรจะละเลยนะครับ”

มาตรฐานลานยังไม่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ไม่มีกฎหมาย และข้อบังคับ จึงเห็นสมควรว่าต้องมีการผลักดันให้เกิดมีกฎหมายควบคุม

เรื่องที่ 4 “คณะกรรมการบอร์ดปาล์มควรจะมีอยู่ทุกภาค” ควรจะมีการปรับบอร์ดใหม่ และระบุในพระราชบัญญัติปาล์มด้วยว่าควรมีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง มีนโยบายแน่ชัดในด้านการบริหารน้ำมันเพื่อจะไม่ให้ขาดแคลน

“สำหรับในส่วนของราชการก็คิดว่ามันเป็นกลไกลหนึ่งของรัฐ คณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติตั้งมา 1 สมัยไม่ได้ทำอะไรเลยนั่นไม่จริง ผลงานที่เห็นชัดๆคือ สามารถสั่งน้ำมันนอกเข้ามา แล้วทำลายผลผลิตภายในประเทศได้อย่างชัดเจนเลยครับ ผมเสนอว่าอย่าให้เข้ามา คุณสุคนธ์ก็ไปคัดค้าน ชาวสวนปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ฯ ระนอง และชุมพรก็ทำหนังสือยื่นไปว่าอย่างเข้ามา ในที่สุดเข้ามาแล้วก็ยับเยินเลยครับ จริงๆแล้วเรื่องนำเข้าน้ำมันผมว่ามันแก้ได้นะครับเราต้องดูปริมาณ CPO ภายในประเทศมีอยู่เท่าไรเราจะต้องแยก ถ้า 1.5 แสนตันให้คงสภาพไว้อย่านำไปทำ B5 หรือพลังงาน อย่างนี้เป็นต้น”

“หากรอให้ขาดแคลนแล้วน้ำเข้านั่นเป็นการบริหารที่แย่สุดๆ แล้วทั้งหมดมีอยู่ 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของปาล์มน้ำมัน กระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน ต่างคนต่างมีอำนาจ ต่างคนต่างใหญ่ น่าจะเอามาเป็นคณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติ จัดตั้งให้เป็นเหมือนกรมการข้าวไปเลย เมื่อประชุมที่ทำเนียบ เวลาหาตัวก็หาไม่เจอ เวลาหาผู้รับผิดชอบไม่มีเจ้าภาพ ไม่มีอะไรเลย ต่างคนต่างอยู่ ตรงนี้น่าจะมีการสรุปและจัดองค์กรของหน่วยงานให้ชัดเจน”

เรื่องที่ 5 “การแนะนำเกษตรกร” เมื่อต้องการพัฒนาทั้งระบบก็ควรเริ่มต้นจากสายพันธุ์คือ แนะนำเกษตรกรให้ทำความเข้าใจในเรื่องของสายพันธุ์ที่ถูกต้อง อย่างเช่น ภาคใต้ปลูกปาล์มน้ำมันมาหลายช่วงอายุคน สายพันธุ์ดั้งเดิมมาจากประเทศมาเลเซีย หลายคนอาจพูดว่าที่ภาคใต้ปลูกปาล์มได้นั่นเพราะเป็นพื้นที่ลักษณะภูมิประเทศ และ สภาพอากาศที่ใกล้เคียงมาเลเซีย แต่ว่าการให้ความรู้กับเกษตรกรส่วนใหญ่จะบอกว่าเป็นสายพันธุ์ลูกผสมเทเนอร่า ซึ่งความจริงแล้วการแนะนำให้ความรู้ควรจะต้องมีอะไรเพิ่มมากกว่านั้น คือสายพันธุ์ที่มาจากต่างประเทศ บางครั้งก็มาจากประเทศที่มีความแห้งแล้ง หรือแม้แต่ในเขตประเทศที่มีอากาศหนาว  เพราะฉะนั้นควรจะแนะนำเกษตรกรเพิ่มเติมว่าเป็นสายพันธุ์ที่มาจากประเทศใด มีการปรับปรุงพันธุ์มาจากประเทศใด เพราะข้อมูลตรงนั้นจะทำให้เกษตรกรเขาตะหนักได้ว่าพื้นที่ของตนควรจะปลูกสายพันธุ์ใดถึงจะได้ประโยชน์คุ้มค่าที่สุด

“ทั้งหมดทั้งสิ้นที่ผมยกตัวอย่างมาทุกเรื่องก็เพื่ออยากให้เกิดการทำงานเป็นระบบ และมาตรฐาน เพราะถ้าต่างคนต่างก็หาผลประโยชน์มันเหมือนแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ต่างคนต่างชวนกันไปตาย นี่คือสิ่งที่กำลังหลงทางกัน ถ้ายังเป็นแบบนี้อยู่ทำอย่างไรเราก็ไม่มีทางสู้กับต่างประเทศได้”

ติดตามต่อตอนที่ 2

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มนัส พุทธรัตน์ ถือธงนำชาวสวนปาล์มน้ำมัน ทุ่งรังสิต คว้าชัยการต่อสู้ สู่แปลงส่งเสริม


(ตอนจบ)
                 
                       เมื่อ นายมัส พุทธรัตน์ ได้ก้าวเข้าเป็นหนึ่งในชาวปาล์มน้ำมันอย่างเต็มตัวแล้ว ทำให้มีสิทธิออกปากออกเสียงต่างๆได้มากขึ้น รวมทั้งการเรียกร้องให้มีการประกาศเขตส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทุ่งรังสิตนี้ด้วย หลังจากเหล่าชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตเดินเรื่องเองอยู่นาน ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวหรือคืบหน้าเลย ทำให้ต้องรวมตัวกันแล้วยื่นเรื่องถึง ดร.ไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปทุมธานี ให้ช่วยดำเนินเรื่อง
นายมัส พุทธรัตน์
“ในช่วงเริ่มแรกปัญหาที่เจอคือ พื้นที่ที่จะได้รับการประกาศเขตต้องมีการทดลองปลูกมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี ถึงจะเริ่มประกาศได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ได้รับความอนุเคราะห์จาก กรมส่งเสริมฯ เข้ามาดูแลให้องค์ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการปลูกปาล์ม การจัดการดูแล มีกรมพัฒนาที่ดิน เข้ามาช่วยดูแลการปรับปรุงดิน ตรวจสอบดิน ตลอดจนส่งเสริมให้สวนส้มร้าง เป็นสวนปาล์มให้ได้ สุดท้ายเราทำสวนปาล์มและเก็บผลผลิตได้ดี สม่ำเสมอในทางกลับกันยิ่งผลผลิตมากขึ้นเมื่ออายุปาล์มมากขึ้นด้วย นี้คือสิ่งการันตีคุณภาพของเรา แต่ก็ถูกเมินและยังไม่ได้รับการประกาศสักที จนยื่นเรื่องถึงท่าน สว.ไพบูลย์ ให้เข้ามาดูแลซึ่งท่านก็ได้รับเรื่องไว้แล้วมีการเรียกประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องบ่อยครั้งที่รัฐสภาบ้าง หรือแม้แต่ลงพื้นที่เข้าร่วมการประชุมของชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตด้วยตัวเองบ้าง ท่านเป็นแกนนำหลักในการผลักดันให้เกิดการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันในเขตทุ่งรังสิตจนได้”
          เฮียมนัสเล่าให้ฟังต่ออีกว่า ข้อเท็จจริงในความล่าช้าที่เกิดขึ้นเมื่อพิจารณาจริงๆแล้ว ขึ้นอยู่กับตัวของเกษตรกรเองด้วย ในครั้งแรกทางชมรมได้ดำเนินเรื่องเรียกร้องให้ได้รับประกาศเขต นั่นหมายถึงประกาศให้เป็นพื้นที่ส่งเสริมทั้งหมดในเขตทุ่งรังสิต หรือ หนองเสือ ต่อมาเมื่อมีการพิจารณาพื้นที่ในแต่ละที่มีความแตกต่างกันออกไปมาก บ้างก็สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมดินเป็นกรด – ด่างเกินไป ยังไม่ได้รับการปรับปรุง บ้างก็เป็นพื้นที่ที่ทำขึ้นมาใหม่จากเดิมอาจเคยปลูกข้าวมาก่อนเมื่อเห็นปาล์มราคาดีจึงปรับพื้นที่มาปลูกปาล์มเป็นต้น
                ดังนั้นทางหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงพิจารณาให้เป็นรายแปลง โดยแปลงที่จะได้รับการประกาศนั้นจะต้อง ตรวจวัดความเป็นกรด – ด่างของดีซึ่งมีค่า PH ของดินต้องอยู่ที่ 4 ขึ้นไป แปลงดังกล่าวต้องเป็นแปลงสวนส้มเดิม และเกษตรกรต้องได้ยื่นเจตนาว่ามีความประสงค์จะปลูกปาล์มในพื้นที่สวนส้มร้าง ทั้งนี้ในกรณีพื้นที่ที่เป็นที่นา หากแต่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี จนไม่สามารถทำนาได้ หรือ ทำแล้วขาดทุนก็สามารถยื่นความจำนงได้ จากนั้นทางคณะกรรมการจะพิจารณาเป็นลำดับต่อไป
                ปัญหาที่ก่อให้เกิดความล่าช้าอีกประการคือ หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลของเกษตรกรแล้วเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เตรียมส่งเรื่องต่อ ซึ่งบางครั้งขาดข้อมูลเรื่องโน้น เรื่องนี้ต้องลงพื้นที่เก็บเพิ่มเติม แต่เมื่อเก็บข้อมูลเสร็จก็ไม่ได้มีการประชุมเรื่องถูกดองไว้ เมื่อมีการกระตุ้นจากเกษตรกรขึ้นมาก็เริ่มใหม่อยู่อย่างนี้
จากการประชุมกันมาหลายครั้งทำให้สิ่งที่พวกเขาหวังไว้เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา โดยมีบางพื้นที่ได้รับประกาศเป็นรายแปลงไปแล้วหลังจากที่รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นครบถ้วน โดยไม่ต้องรั้งรอแปลงที่ยังมีข้อมูลไม่พร้อม ทั้งนี้เพื่อให้คนที่พร้อมได้ลุยหน้าทำสวนปาล์มกันได้อย่างเต็มที่และมีรายได้จากการขายผลผลิต จนผ่อนผันหนี้สินได้
ในที่สุดแล้วจากการร่วมมือของทุกฝ่ายที่เอาจริงเอาจังขึ้นมาภายใต้การผลักดันของ สว. ไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ ทำให้ได้รับความสำเร็จในที่สุด
 “สำหรับทางกรมส่งเสริมยังคงให้ความช่วยเหลือด้วยดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะอาจารย์ศักดิ์ศิลป์เป็นตัวยืนอยู่แล้วเช่น เวลาเรามีปัญหาอย่างนี้เราโทรหาแกได้ตลอด เราทะเลาะกันในที่ประชุมเป็นธรรมดาพอออกจากห้องประชุมก็คือพี่กับน้องอาจารย์กับลูกศิษย์ ในที่ประชุมถ้าท่านพูดอยู่ฝ่ายเดียว เราเข้าไปครับผมอย่างเดียว ไม่แย้งเลย มันเป็นไปไม่ได้ ท่านก็จะหลงผิดอยู่ตลอดเข้าใจเกษตรกรผิดตลอด พอเราออกจากห้องประชุมนี้เหมือนพี่กับน้องคือเราไม่ใช่นักการเมืองเราเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ต้องอาศัยกรมส่งเสริม กรมวิชาการ สำนักงานเศรษฐกิจเกษตร แต่ถ้าเราปล่อยให้เขาคิดเองมันไม่ถูกต้องให้ชาวหนองเสือคิดบ้าง ให้เราเป็นคนรู้จักคิดบ้างไม่ใช่ให้เราตามอย่างเดียวมันไม่พัฒนาหรอก

อดีตเซียนส้มฟันธงทำสวนปาล์มไม่ใช่เรื่องยาก

หลังจากทุกเรื่องราวผ่านไปได้ด้วยดีแม้จะต้องใช้ระยะเวลาในการเดินเรื่องนานกว่า 4 ปี สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนกำลังมองพร้อมทั้งตั้งโจทย์วิเคราะห์ตามในใจคือ ชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตใช้กลยุทธ์ใดเข้ามาจัดการบริหารสวนจนได้ผลผลิตต่อไร่ที่ได้ผลดีเกินคาดเมื่อเปรียบเทียบผลผลิตเฉลี่ย/ไร่/ปี ทั้งประเทศ ทั้งๆที่พวกเขาเป็นมือใหม่สำหรับปาล์มน้ำมัน จนในที่สุดผู้เขียนก็อดที่จะถามออกไปไม่ได้
“เราคือเกษตรกรตัวจริง ไม่ใช่มือใหม่ ปาล์มอาจจะใหม่สำหรับเรา แต่ว่าการปลูกส้มก็อยากนะ ราชการบอกเราว่าดินเหนียวไม่สามารถปลูกส้มได้แต่เราก็ทำมาได้ตั้ง 30 ปี  และสำหรับการปลูกปาล์มนี้ หากใช่หลักวิชาการ เราอาจจะไม่เข้าใจ แต่ว่าการบริหารจัดการเราพร้อม เราบริหารจัดการสวนส้มได้ เพราะองค์ความรู้เกษตรกรสวนส้มปุ๋ย – ยา PH ดินหรือแม้กระทั้ง PH ของน้ำ ความเค็มน้ำ เรามีความรู้ เรามีเครื่องวัดตลอด การปรับปรุงดิน การดูสภาพดิน องค์ความรู้เราเพียบอยู่แล้ว คุยกับใครไม่แพ้ แต่จะให้มานั่งวิเคราะห์น้ำหนักต่อทะลาย ควรใส่ปุ๋ยต่อต้นเท่าไร อันนั้นเราอาจจะยังไม่รู้ แต่มันไม่ใช่ปัญหา เราเป็นเกษตรกรมาทั้งชีวิตนะครับ บางคนอายุ 70 ก็ยังปลูกปาล์ม เพราะปลูกส้มมาแต่อายุ 20 อย่างผมนี้ทำส้มมาตั้งแต่ปี 2519 ตอนนี้อายุ 59 แล้วเรื่องไม่มีความรู้ เรื่องขาดประสบการณ์ไม่ใช่ และเราบริหารจัดการเรื่องคนงานแรงงานได้ ดังนั้น ผมมั่นใจว่าอดีตชาวสวนส้มทุกคนไม่วิตกหรอกหากจะทำสวนปาล์ม”
                สุดท้ายเหมือนเป็นทำเนียมที่ผู้เขียนจะถามแบบเจาะใจเพื่อให้คู่สนทนาได้กล่าวความในใจผ่านไปถึงบุคคลที่ร่วมงานด้วยเมื่อครั้งเดินเรื่องเรียกร้องการประกาศเขต ที่อาจจะมีกระทบกระทั่งกันบ้างพอสมควร ซึ่งเฮียมนัสก็เผยความในใจว่าเขามีความรู้สึกเกรงใจ ทีมงาน หน่วยงาน หรือบุคลที่เข้ามาช่วยส่งเสริมผลักดันเรื่องดังกล่าว อย่างเช่น ดร.ไพบูลย์ ซำศิริพงษ์ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปทุมธานี, ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน, กรมส่งเสริมการเกษตร, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัดทุกส่วน
“ทุกท่านที่เข้ามาช่วย หากผมได้ล่วงเกิน ล่วงล้ำ บางทีพูดต่อว่า หรือทำอะไรที่เป็นการกระทบจิตใจท่าน ผมก็ขอโทษทุกภาคส่วน แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ผมถือว่าทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง จะอ้างว่าสำนักงานการเกษตรกรมส่งเสริมฯ กรมวิชาการฯ กรมพัฒนาที่ดิน เข้ามาช่วยเกษตรกร ผมว่าไม่ใช่ แต่มันเป็นหน้าที่ของท่านต้องเข้ามาดูแล เมื่อมีหน้าที่ทุกคนก็ต้องทำตามหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดที่ได้รับมอบหมาย เมื่อเข้าประชุมเราก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า ตามหลักการ ผมเข้าไปนั่งในกรรมาธิการ ผมก็ต้องต่อสู่ดิ้นรนเพื่อที่จะให้ได้เป็นแปลงส่งเสริมขึ้นมา ผมก็ต้องทำหน้าที่ผมดีที่สุด แต่ออกมาจากที่ประชุมแล้ว เราก็พี่กับน้องไม่ได้มีความโกรธแค้นขุ่นเคืองในหัวใจยังเคารพยกมือไหว้ตามอาวุโส”
สิ่งสุดท้ายอันทรงคุณค่าที่ได้มาหาใช้เพียงชัยชนะเพียงอย่างเดียว หากแต่รายละเอียดระหว่าระยะเวลากว่า 4 ปีสอนให้หลายคนที่มีส่วนร่วมในครั้งนี้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้อย่างเต็มอิ่ม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหา ความสมัครสมานสามัคคี ความมีน้ำใจ การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด หน้าที่ที่แต่ละคนพึงกระทำ ตลอดจนความผูกพันฉันท์พี่น้อง ญาติมิตรได้ก่อตัวขึ้นมา สุดท้ายได้มาซึ่งความสำเร็จที่มีค่ายิ่ง

ผลักดันให้มีการทำปาล์มคุณภาพเพื่อให้เกิดการซื้อขายอย่างเป็นธรรมด้วยเปอร์เซ็นต์น้ำมัน

หลังจากประสบความสำเร็จในเรื่องของร้องขอเป็นพื้นที่ส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันแล้ว แม้ว่าจะได้รับการประกาศแบบรายแปลงก็ตามที และยังคงมีอีกหลายแปลงที่ยังไม่ได้รับการประกาศแต่ก็คงไม่นานเพราะคณะทำงานก็เร่งดำเนินงานกันอย่างเต็มที่
แกนนำชาวสวนปาล์มอย่างเฮียมนัสเผยว่าภาระต่อไปที่ทางกลุ่มกำลังช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์แก่ชาวสวนปาล์มที่ไม่ใช่เฉพาะในเขตทุ่งรังสิต แต่จะสะท้อนไปถึงชาวสวนปาล์มน้ำมันทั้งประเทศ นั่นคือ การร่วมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง ผลิตปาล์มที่ได้คุณภาพเข้าสู่โรงงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งราคาที่จะสูงขึ้นตามคุณภาพของเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สกัดได้ นั่นหมายถึงการผลักดันให้เกิดการซื้อขายอย่างเป็นธรรมด้วยเปอร์เซ็นต์น้ำมัน
“เมื่อเราได้รับเป็นแปลงส่งเสริมแล้ว เราก็จะผลักดันรวมกลุ่มกันให้มีความเข้มแข็ง เพื่อผลิตปาล์มคุณภาพเข้าโรงงาน มีอำนาจในการต่อรองราคา ที่มาจากคุณภาพของผลผลิตปาล์มอย่างแท้จริง  ทางโรงงานรับซื้อผลผลิตปาล์มทะลายเราไป นำไปเข้ากระบวนการหีบแล้วมาบอกเราว่าสกัดได้ 14 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องตั้งราคารับซื้อเท่านี้ เราไม่เชื่อเมื่อ กรมส่งเสริมการเกษตรเขารับพันธุ์ปาล์มมาแจกจ่ายให้เกษตรกร พันธุ์ปาล์มทุกต้นต้องมีคุณภาพ รวมไปถึงคุณภาพในการให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันเมื่อตัดสุกเต็มที่ด้วย แล้วมาบอกว่าเราทำไม่ได้โดยอ้างว่า เกษตรกรรดน้ำ เก็บไม่สุก มันเป็นไปไม่ได้ จะแทงปาล์มอ่อนไปทำไม ในเมื่อปาล์มสุกมันได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น เพียงแค่ 5 วัน น้ำหนักก็เพิ่มขึ้นเป็นกิโลแล้ว สมมติกิโลละ 5 บาทก็ทำให้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 5 บาท/กิโล แบบนี้ทำไมเกษตรกรไม่เอา จะรีบแทงทะลายน้ำหนักยังไม่ได้ไปขายทำไม”
การต่อสู่เพื่อความอยู่รอดของชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตไม่ได้หมดเพียงแค่ได้รับประกาศส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมัน หากแต่ต้องต่อสู้ด้านคุณภาพผลผลิต ที่ส่งผลต่อราคาซื้อขาย หลังจากมองดูแล้วคงเกิดปัญหาต่อไปหากยังนิ่งดูดายกันเช่นเดิม คอยจับตามองว่าพวกเขาจะเดินหน้ากันอย่างไร แล้วผู้เขียนจะเกาะติดสถานการณ์แล้วนำเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง


ข้อมูลจาก : นิตยสารพืชพลังงาน ฉบับที่ 49/2555

วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มนัส พุทธรัตน์ ถือธงนำชาวสวนปาล์มน้ำมัน ทุ่งรังสิต คว้าชัยการต่อสู้ สู่แปลงส่งเสริม ตอนที่ 1


เรื่อง/ภาพ : ธันยวีร์ ปลอดภัย

หลังจากที่ผู้เขียนเข้าสัมภาษณ์พิเศษ นายศักดิ์ศิลป์  โชติสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ กรมส่งเสริมการเกษตร ถัดมาอีกวันก็ได้ลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่ม โดยบุกไปถึงบ้าน นายมนัส พุทธรัตน์ หรือ เฮียมนัส ที่ผู้เขียนเรียกจนติดปาก หนึ่งในอดีตชาวสวนส้ม และปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ปลูกปาล์มน้ำมันแห่งทุ่งรังสิต
นายมนัส พุทธรัตน์
หนึ่งในแกนนำชาวสวนปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต
              อีกบทบาทที่ผู้เขียนเห็นจนชินตาคือหนึ่งใน “แกนนำ”  ชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิต ทุกครั้งที่มีการประชุม หรือ งานอะไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน เขาจะให้ความร่วมมือพร้อมทั้งให้ข้อมูลด้วยดีมาโดยตลอด และสำหรับเบื้องหลังความสำเร็จนั้นคงจะขาดบุคคลนี้ไม่ได้
                เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2555 ผู้เขียนได้เดินทางมุ่งหน้าไปย่านหนองเสือ ซึ่งเป็นทั้งสวนและบ้านของเฮียมนัส และไม่นานก็ถึงที่หมาย ซึ่งเจ้าตัวก็ให้การตอนรับเป็นอย่างดี
นั่งพูดคุยกันในบรรยากาศสบายๆที่ศาลาริมน้ำ ภายในบริเวณบ้าน และแน่นอนประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนาครั้งนั้นคือเรื่อง ความสำเร็จที่ชาวสวนปาลามน้ำมันทุ่งรังสิต ได้รับประกาศส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมัน รายแปลง พร้อมทั้งสอบถามถึงแก่นแท้ของเรื่องราวทั้งหมด
เฮียมนัส เล่าว่า ในยุคเริ่มต้น หรือเมื่อปี 2547 มีเกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นแกนนำทดลองปลูกนั้นมีหลายคนโดยเฉพาะ นายอักษร น้อยสว่าง ที่ปัจจุบันรับหน้าที่เป็นประธาน “ชมรมผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต” เป็นคนที่เคยพบกับ “ความล้มเหลว” จากการปลูกส้มในพื้นที่คลองรังสิต  อ.หนองเสือ  จังหวัดปทุมธานี มาแล้วในอดีต
ต่อมาเขาได้ร่วมมือกับเกษตรอำเภอหนองเสือ  เข้าร่วมโครงการทดสอบปลูกปาล์มน้ำมันนอกพื้นที่ส่งเสริม โดยใช้พื้นที่สวนส้มร้างเดิมที่มีลักษณะเป็นร่องสวน จำนวน 10 ไร่ เป็นแปลงทดสอบ ปัจจุบันพื้นที่สวนปาล์มทั้งหมดกว่า 50 ไร่ และเก็บผลผลิตจำหน่ายไม่ต่ำกว่า 25 ตัน/เดือน มีรายได้ที่มั่นคงทุกๆ 15 วัน
                สำหรับเฮียมนัส เพิ่งจะเริ่มปลูกปาล์มมาได้ 3 ปีกว่าๆเท่านั้น แต่หลังจากเข้าสู่วงการนี้แล้ว ทำให้เริ่มศึกษาข้อมูลต่างๆ รวมทั้งผลประโยชน์ที่ควรจะได้ของตนเอง และเพื่อนๆชาวสวนปาล์มที่กำลังคาราคาซังกับการประกอบอาชีพใหม่นี้
นายอักษร น้อยสว่างประธานชมรมผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต
“ตอนนั้นผมยังไม่ได้ปลูกปาล์ม ผมก็ยังไม่กล้าเข้าไปวุ่นวายอะไร หลังจากนั้นประมาณปี 2552 ผมเริ่มลงมือปลูก พร้อมทั้งหาข้อมูลทั้งทางวิชาการ และทางข้อมูลเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน เรื่องสายพันธุ์ การจัดการดูแล หรือแม้แต่ถ้ามีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องของปาล์มน้ำมัน ผมจะเข้าร่วมตลอดไม่เคยขาด เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องนำมาพัฒนาอาชีพเรา”
“เมื่อเราตั้งใจกับอาชีพใหม่ตรงนี้ เราควรเอาจริงเอาจัง เมื่อเห็นว่าปาล์มน้ำมันสามารถสร้างรายได้ให้เราได้ และมีแนวโน้มที่มั่นคง มีผลผลิตต่อไร่ที่ดี ดังนั้นการกู้เงิน ธ.ก.ส.เพื่อมาลงทุนตรงนี้คงไม่มีปัญหา แต่ที่สุดแล้วก็ยังติดปัญหาที่ว่า ไม่ได้เป็นเขตส่งเสริม ความมั่นคงไม่เกิด อาจเป็นเพราะกลัวว่าจะล่มสลายเหมือนสวนส้มแล้วไม่มีเจ้าภาพรับผิดชอบเป็นการเพิ่มหนี้เข้าไปอีกก็ได้ พวกผมจึงต้องพึ่งภาครัฐให้พิจารณา”


“ปรับโครงสร้างหนี้” ผลประโยชน์ชิ้นใหญ่ ของเกษตรกรทุ่งรังสิต
หากได้รับการส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันอย่างเป็นทางการจากรัฐ
       
ด้วยเหตุผลนานับประการที่จะสามารถ “ปลดล็อค” ให้เกษตรกรทุ่งรังสิตมีช่องทางหาเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส.ที่พะรุงพะรังมาตั้งแต่ทำสวนส้ม  หากพวกเขาได้รับการสนับสนุนปลูกปาล์มน้ำมันอย่างเป็นทางการ อาทิ หน่วยงานราชการจะสามารถเข้ามาผลักดันให้องค์ความรู้ต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องปุ๋ย  - ยา เรื่องความเป็นกรด – ด่างของสภาพดิน หรือ หากเกิดปัญหาภัยพิบัติด้านโรคแมลง ก็จะได้รับคำแนะนำพร้อมการป้องกันแก้ไขอย่างทันทวงทีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
“ส่วนมากเกษตรกรในเขตรังสิต หนองเสือ จะเป็นแปลงส้มร้าง และจะมีปัญหาหนี้สินตกค้างกับทาง ธ.ก.ส.  หลังจากสวนส้มเสียหายก็พากันทำสวนผักต่างๆ หลายคนที่จะกู้เงิน ธ.ก.ส.ก็ไม่ได้เพราะเขากลัวไม่มีเงินคืน เขาบอกว่าเรายังไม่ได้ทำอาชีพที่มองดูมั่นคงยั่งยืน เราไม่ได้ปลูกพืชที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นหนี้ตกค้าง ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ไม่สามารถชำระเงินต้นได้ บางคนก็ต้องเอาโฉนดไปขัดดอกทำให้ที่ดินติดอยู่กับ ธ.ก.ส. มีปัญหามาตลอด วันดีคืนดีไปตกอยู่กับมือนายทุนทำให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรของเรา แต่เมื่อเราปลูกพืชที่สร้างอาชีพ สร้างเงินแล้วก็อยากได้รับการผลักดันให้ได้เป็นแปลงส่งเสริมอย่างเป็นทางการ การช่วยเหลืออะไรๆจะได้ง่ายและสะดวกขึ้น” 
(ติดตามต่อตอนที่ 2)

ว่าด้วยเรื่องของ..มันสำปะหลัง!!!


เรื่อง/ภาพ : แทนไท ออนทัวร์

เรื่องของมันสำปะหลังในช่วงนี้แม้จะเงียบๆลงไปบ้าง เพราะผ่านฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว หากแต่ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจให้ติดตามอย่างเช่นเรื่องของ โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ซึ่งผู้เขียนได้ยินชาวไร่พูดคุยกันเมื่อครั้งที่เดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดในโซนภาคเหนือตอนล้างเมื่อปรายเดือนที่ผ่านมา
โดยทั่วไปในเขตพื้นที่ต่างจังเกษตรกรล้วนแต่ก็ทำพืชเศรษฐกิจ อย่าง ข้าว อ้อย ข้าวโพด และ มันสำปะหลัง ถึงแม้ว่าช่วงหลังๆมานี้จะมีปาล์มน้ำมัน และยางพาราด้วยก็ตาม ในขณะที่ผู้เขียนนั่งรอรถสองแถวเข้าไปในหมู่บ้าน บังเอิญได้ยินชายหญิงประมาณ 5-6 คน แต่งตัวเหมือนพร้อมออกไปไร่นา ทั้งๆที่จุดประสงค์เพื่อมาจ่ายตลาดก็ตาม ยืนจับกลุ่มคุยกันถึงการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะเรื่อง “มันสำปะหลัง” ที่พวกเขาขายเข้าโครงการ
สำหรับลำดับขั้นตอนในการเข้าร่วมโครงการนั่นมีอยู่ว่า องค์การคลังสินค้า หรือที่เรียกย่อๆว่า อคส. เปิดรับสมัครลานมัน และโรงแป้งให้เข้าร่วมโครงการเพื่อใช้เป็นจุดรับฝากหัวมันสด และจ่ายใบประทวนให้กับเกษตรกรหลังจากที่เกษตรกรนำมันสำปะหลังมาส่งยังลาน และโรงแป้งต่างๆที่เข้าร่วม ต่อมาเกษตรกรต้องนำใบประทวนที่ได้ไปจำนำกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. แล้ว ธ.ก.ส.จะจ่ายเงินให้กับเกษตรกร “ภายใน 3 วัน”
โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง แม้จะถูกเห็นชอบและผ่านการอนุมัติจากคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการแทรกแซงตลาดมันให้นำมาใช้ในภาคประชาชนแล้วก็ตาม นั่นหมายความว่า ผู้ที่คิริเริ่ม หรือ ผู้กำหนดเรื่องดังกล่าว ต้องมองเห็นถึงผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับแล้ว แต่เสียงสะท้อนจากส่วนหนึ่งของชาวไร่มันเห็นว่า ต้นทุนในการผลิตไม่ว่าจะเป็น ค่าปุ๋ย ยา ค่าคนงาน และอื่นๆที่เป็นต้นการผลิตล้วนแต่ต้องใช้เงินสดทั้งนั้นจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะค่าแรงงาน หากไม่จ่ายเงินสด คงไม่มีใครที่ไหนไปทำให้คนอื่นฟรีๆ
ในขณะเดียวกันที่หลังจากเก็บผลผลิตขึ้นรถเตรียมขนส่งไปจำหน่ายยังลานรับซื้อที่เข้าโครงการฯ กับต้องติดคิวรอเป็นเวลานาน บางก็มานอนรอเพื่อจะได้นำผลผลิตขึ้นชั่งก่อนในวันถัดไป ไม่เพียงเท่านั้นแทนที่จะได้รับเงินสดออกมา กลับต้องถือกระดาษ 1 ใบ (ใบประทวน) ออกมาแทน ซึ่งก็หมายความว่าต้องรอมารับเงินอีกครั้งในคราวต่อไป หรือไปขึ้นเงินกับ ธกส.เอง เมื่อยื่นความจำนงไปแล้วต้องรอให้ทางหน่วยงานดำเนินการต่างๆกว่า 3 วัน ถึงจะได้เงิน แลดูขั้นตอนในการรับเงินช่างแสนวุ่นวายน่าปวดหัวนัก อย่างไรก็ตามเกษตรกรก็ต้องก้มหน้าทำตามเงื่อนไขดังกล่าวไปเพราะไม่มีทางเลือกอื่น แต่ก็มีบางรายที่อดรนทนไม่ได้ต้องขายผลผลิตให้กับลานเอกชนซึ่งราคาก็ “ถูกแสนถูก” เพื่อให้ได้เงินสดมาเป็นทุนในการผลิตรอบต่อไป
ก็ว่ากันไปตามเนื้อผ้า แล้วกันนะ เอาหละสำหรับเนื้อหาที่เกษตรกรรายใหม่ๆ หรือ ผู้ที่ทำอยู่แล้ว แต่อยากทราบแนวการทำไร่มันสำปะหลังของเพื่อนๆท่านอื่นๆผู้เขียนจะนำเรื่องราวเหล่านั้นมาให้ได้นำไปศึกษาประยุกต์ใช้กันอีกครั้ง ซึ่งจะขออนุญาตรวบรวมเรื่องราวที่เคยนำเสนอไปแล้วมาฝากอีกครั้ง

หมอดินอาสาปราจีนบุรี เกทไอเดีย ใช้ ขี้เห็ด เพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังกว่า 5 เท่า/ไร่
เป็นเรื่องราวที่ถูกนำเสนอไปในปีที่แล้ว ที่พูดถึงการนำ “ขี้เห็ด” เป็นตัวกระตุ้นช่วยเพิ่มผลผลิตต่อได้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


เจ้าของข้อมูลนี้คือ คุณสมพร เรืองโรจน์ หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดิน เกทไอเดีย” นำก้อนเชื้อเห็นที่ผ่านการเก็บดอกเรียบร้อยแล้วไปใส่ในไร่ก่อนปลูกมันสำปะหลังประมาณ 4 ตัน/ไร่ จากนั้นใช้รถไถเกลี่ยให้ทั่วทั้งแปลง และยกร่องปลูกตามกระบวนทั่วๆไป เขาปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 ผลปรากฏว่าผลผลิตที่ที่เคยเก็บได้เพียง 4 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 19 ตันต่อไร่ ประกอบกับช่วยให้เปอร์เซ็นต์แป้งเพิ่มขึ้นด้วย
คุณสมพรมีอาชีพทำไร่มันสำปะหลัง และเพาะเห็ดฟางจำหน่าย จึงทำให้มีวัตถุดิบเหลือให้ที่เป็นประโยชน์มาช่วยเพิ่มผลผลิตให้พืชอีกชนิดได้อย่างง่ายดาย
จากกรณีที่หมอดินอาสาของกรมพัฒนาที่ดินท่านนี้ใช้ภูมิปัญญาในการนำวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรมาช่วยเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังกว่า 5 เท่า ถือว่าเป็นการสร้างปรากฏการณ์ใหม่แห่งการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้อย่างน่าตะลึง กรมพัฒนาที่ดินจึงได้มอบหมายให้สถานีพัฒนาที่ดินเขาทดสอบและทำการวิจัยหาสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของผลผลิตหลังนำขี้เห็ดใส่ลงไปในแปลงปลูกมันสำปะหลัง จนทราบว่าในก้อนเห็นที่ผ่านการให้ผลผลิตแล้วจนกลายเป็นขี้เห็ดเต็มไปด้วยจุลินทรีย์หลากหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช

ปลูกมันสำปะหลังข้ามแล้ง ด้วยระบบน้ำหยอดผลผลิตเฉลี่ย 10 ตัน/ไร่
มาดูเทคนิคที่เข้ากับสภาวะอากาศแห้งแล้งในปัจจุบันนี้ “ปลูกมันสำปะหลังข้ามแล้ง ด้วยระบบน้ำหยอด” เป็นเรื่องราวของเซียนแห่งวงการเกษตรท่านหนึ่งใน จ.กาญจนบุรี คุณเสถียร มาเจริญรุ่งเรื่อง เจ้าของ บริษัท สามัคคีพัฒนา จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจนำเข้าปุ๋ยเคมีมากว่า 30 ปี พร้อมทั้งเป็นผู้เปิดตำราการทำเกษตรแบบแผนใหม่ นำความทันสมัยของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จากผลงานสร้างชื่อด้วยการทำไร่อ้อยแบบ 1 ร่อง 4 แถว” ต่อมาเป็นการ “ปลูกอ้อยข้ามแล้งด้วยระบบน้ำหยอด” จนพัฒนาระบบเครื่องจักกลทางการเกษตรให้ใช้ในการ “ทำไร่มันสำปะหลังระบบน้ำหยอด” ได้ด้วย
รายละเอียดของเรื่องนี้ถูกนำเสนอไปแล้วเมื่อปีก่อนเหมือนกัน แต่ผู้เขียนเห็นว่าเทคโนโลยีที่เขาใช้ สามารถนำมาประยุกต์ในในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะสภาพอากาศที่ร้อนทำให้ความชื้น และ “น้ำ” ที่จำเป็นต่อการทำเกษตรแห้งหายไป หาเกษตรกรลงทุนติดตั้งระบบน้ำก็ใช้ว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนเพราะว่าพื้นที่เพราะปลูกอาจจะห่างใกล้จากแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มขึ้นมาก หรืออาจจะขุดสระแต่ก็ใช้ว่าขุดไปแล้วกับไม่มีน้ำเลยก็เป็นได้
คุณเสถียร ได้ดัดแปลงรถไถที่ครั้งหนึ่งเคยได้ในงานไร่อ้อย มาใช้กับงานในไร่มันสำปะหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่ต้นทุนไม่ได้มากขึ้นกว่าเดิมเลย พื้นที่ที่เคยปลูกยูคาลิปตัสกว่า 50 ไร่ ถูกปรับปรุงสภาพพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการทำไร่มันสำปะหลัง เจ้าตัวบอกว่าแปลงแรกจะทำเป็นแปลงสาธิตด้วยการนำมันสำปะหลังสายพันธุ์ระยอง 11 มาปลูก
หลังไถปรับพื้นที่เรียบร้อยแล้วใช้รถไถที่ถูกดันแปลงมาจากรถปลูกอ้อย มาติดตั้งเครื่องหยอดปุ๋ย และ ถังน้ำไว้บนหลังคารถ ในขณะชักร่องเตรียมปลูกระบบเครื่องจะค่อยๆลำเลียงปุ๋ยและน้ำไหลผ่านท่อลำเลียงโดยตำแหน่งปากท่อจะถูกออกแบบมาให้ตรงกับสันร่องพอดี เพื่อสร้างความชื้นและรองพื้นด้วยปุ๋ยก่อนที่จะกลบไว้ใต้ดิน เมื่อนำท่อนมันลงเสียบในแปลง จะช่วยให้ท่อนมันสำปะหลังปลูกใหม่ที่ยังไม่มีรากหาอาหารเองได้ได้รับธาตุอาหารและความชื้นเบื้องต้นที่เตรียมไว้ข้างต้นทันที วิธีดังกล่าวจึงช่วยให้มีการเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการปลูกแบบทั่วๆไป
เจ้าของไร่สามัคคียังบอกอีกว่าผลผลิตโดยทั่วไปมันสำปะหลังสายพันธุ์ดังกล่าวจะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 4-6 ตัน/ไร่/ปี ในระบบการจัดการปกติคือ การปลูกและให้น้ำตามธรรมชาติ แต่หากปลูกด้วยระบบการจัดการที่ดี หรือการปลูกแบบใหม่ที่ใช้ระบบน้ำและปุ๋ยฝังรองพื้นอย่างที่ทางไร่ทำคาดการณ์ว่าผลผลิตเฉลี่ยไม่น่าจะต่ำกว่า 10 ตัน/ไร่/ปี ยืนยันได้จากในฤดูกาลแรกที่ได้ทนลองทำเขาเก็บผลผลิตเฉลี่ย 8-10 ตัน/ไร่ ทั้งๆที่เป็นเพียงการทดลองครั้งแรกด้วยซ้ำ 

เทคนิคปลูกมันระบบน้ำหยด และ “ปุ๋ยขี้หมู” ผลผลิต 18 ตันต่อไร่
ไหนๆก็ว่ากันด้วยการทำไร่มันสำปะหลังในหน้าแล้งแล้วก็มาดูอีกเทคนิคของ คุณสวน แผนสมบูรณ์ เจ้าของไร่มันสำปะหลัง 600 ไร่ ปลูกมันสายพันธุ์ระยอง 5 ระยอง 7 และห้วยบง 60 ที่ ต.ห้วยอุ่น อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ผู้เขียนนำเสนอการเพิ่มผลผลิตด้วยตัวช่วยต่างๆโดยเฉพาะขอเหลือใช้ที่หลายคนไม่อย่างนำมาใช้อย่าง “ขี้หมู”
“ขี้หมู” กลายมาเป็นวัตถุดิบที่เข้ามามีบทบาทในการทำไร่มันสำปะหลังมากขึ้นหลังจากมีเกษตรกรประสบความสำเร็จในด้านการนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยน้ำชีวภาพ ประกอบกับเป็นการลงทุนที่ต่ำ และคุณสวนเองก็ปรับปรุงสูตรของตนเองตลอดเวลาที่ผ่านมา จึงทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นจนถึงปัจจุบัน
การทำปุ๋ยน้ำหมัก การหมักขี้หมูแห้งสัดส่วน คือ ขี้หมูแห้ง 20 กิโลกรัม น้ำ 200 ลิตร นำขี้หมูมาแช่น้ำไว้ 24 ชั่วโมงจากนั้นแยกกากออก นำมาผสมน้ำเปล่า 2,000 ลิตรและส่วนผสมอื่นๆตามสูตร จากนั้นนำไปฉีดพ่นในแปลงมันสำปะหลังทุกๆเดือนๆละ1-2 ครั้ง ผลจากการใช้ปุ๋ยน้ำหมักฉีดพ่นปรากฏว่ามันสำปะหลังจะเจริญเติบโตดี ลงหัวดกและหัวใหญ่มาก ต้นทุนลดลง เดิมที่เคยได้ผลผลิตไร่ละ 3-4 ตัน ก็ได้เพิ่มมาเป็นไร่ละ 13-18 ตัน โดยใช้ปุ๋ยเคมีลดลงมาก แต่ขี้หมูมีธาตุอาหารน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการของมันสำปะหลัง เพราะฉะนั้นเกษตรกรต้องปรับปรุงเพิ่มธาตุอาหาร จึงจะได้ผลผลิตสูงสุด
นับว่าเป็นการปฏิรูปการจัดการไร่มันสำปะหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผลลัพธ์ที่ออกมามีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ในพื้นที่ 5 ไร่ ที่เขาได้หวนกลับมาบุกเบิกใหม่หลังจากปล่อยให้เช่ามาเป็นเวลา 3 ปี และจากสภาพดินเสื่อม จนมาในปี 2547 คุณสวนเปิดเผยว่าในช่วงแรกตนยังไม่ค่อยมั่นใจในแนวทางดังกล่าว ประกอบกับยังรับไม่ได้เรื่องการนำขี้หมูมาใช้แทนปุ๋ยเคมี แต่เนื่องจากเจ็บช้ำมาครั้งหนึ่งแล้วในการใช้เคมีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น สภาพดินเสื่อมทำให้ได้ผลผลิตต่ำ เป็นต้น จึงตัดสินใจเปิดใจรับในแนวทางทฤษฎีใหม่ ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้วต้นทุนที่ซื้อขี้หมูเป็นต้นทุนที่ถูกกว่าปุ๋ยเคมีด้วยซ้ำ
การให้น้ำด้วยระบบน้ำหยด คุณสวนให้ข้อมูลว่า เดิมที่จากการให้น้ำแบบอาศัยเทวดาเลี้ยง คือแล้วแต่ว่าฝนจะตกมาในช่วงใดในแต่ละปี ปีใดฝนตกมากผลผลิตก็ได้ดีหน่อย แต่สำหรับปีใดที่แล้งผลผลิตก็จะต่ำด้วย ดังนั้นจึงได้คิดแนวทางที่จะให้มันสำปะหลังให้ผลผลิตเต็มที่และสม่ำเสมอทุกปี โดยปริมาณไม่ห่างกันมาก และได้เล็งเห็นว่าการวางระบบน้ำในไร่เป็นหนทางที่ดีที่สุด ซึ่งทางไร่จะเจาะบ่อบาดาลไว้ 2 บ่อ เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้งด้วย
ต้นทุนที่ใช้จ่ายไปในการติดตั้งระบบน้ำคร่าวๆคุณสวนได้เปิดเผยว่า ค่าสายน้ำหยด ท่อเมน  เฉลี่ยรวมทั้งหมดประมาณ 7000 บาท/ไร่ จากการทดลองใช้ในปีแรกเก็บผลผลิตได้ไร่ละ 10 ตัน และขยายพื้นที่วางระบบน้ำหยดเพิ่มขึ้นอีก และได้พัฒนาสูตรปุ๋ยพ่นทางใบใช้ร่วมกับน้ำหมักขี้หมู ถึงปัจจุบันทำให้ผลผลิตสูงถึง 15-22 ตัน/ไร่ ที่อายุเก็บเกี่ยว 15-18 เดือน
การเก็บเกี่ยวผลผลิต อายุการเกี่ยวอย่างน้อย 12-15 เดือน ทรัพย์ในดินที่เรียกว่า “มันสำปะหลัง” เป็นพืชมหัศจรรย์ ที่ไม่ได้มีราคาแค่เพียงส่วนหัว หากแต่ในส่วนที่เป็นลำต้นยังสามารถขายได้ หากมีการดูแลรักษาดีๆ ลำต้นสวย และมีความสมบูรณ์ก็สามารถสร้างรายได้ให้ได้หลายพันบาท/ไร่ ซึ่งโดยทั่วไปชาวไร่มันจะขายต้นมันกันที่ราคาต้นละ 2-3 บาท ซื้อขายกันแบบเหมาไร่เฉลี่ยไร่ละ 2,000 บาท นับว่าเป็นรายได้ไม่น้อยที่ได้นอกเหนือจากการขายหัวมันสด
คุณสวนได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่าการทำงานด้านเกษตรแม้ว่าจะเป็นงานที่เหนื่อย และต้องลุ้นอยู่ตลอดว่าฝนจะตกหรือเปล่า ราคาผลผลิตจะเป็นอย่างไร หรืออะไรอีกหลายๆอย่าง แต่ถ้าท่านได้มีความคิดริเริ่ม และมีใจรักที่จะทำผู้นั้นย่อมประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
เอาเป็นว่าพอหอมปากหอมคอกันแค่นี้ก่อน สำหรับเทคนิคดีๆที่นำมาตอกย้ำให้เกษตรกรได้นำไปประยุกต์ใช้ สำหรับในฉบับต่อไปผู้เขียนจะนำข้อมูลการปลูกมันสำปะหลังจากเกษตรกรท่านใดและลงพื้นที่ตรงไหนนั้นต้องติดตาม สำหรับฉบับนี้ขอลาไปก่อน สวัสดี โชคดีทุกท่าน...

ข้อมูลจาก : นิตยสารพืชพลังงาน ฉบับที่ 50/2555