Translate

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ตำรวจไทยหัวใจเกษตร…ปลูกปาล์มน้ำมัน ทำรายได้ หลังเกษียน


คอลัมน์ : สกู๊ปพิเศษ

เรื่องโดย : ดวงจันทร์ จิตไธสง

คนไทย ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร หรือ อยู่ที่ไหน ท้ายที่สุดของการดิ้นรนบนเวทีการแข่งกันมั่งมี แข่งกันได้ หรือแม้แต่แข่งกันเป็นใหญ่เป็นโต ก็จบลงที่ “เกษตรกรรม”


“เกษตรกรรม” อาชีพทางเลือกที่หลายๆคนไม่สามารถเลือกได้ เพราะสืบเชื้อสายการเป็นลูกหลานเกษตรมาตั้งแต่ต้น ในขณะที่ลูกคนมีอันจะกินและคนที่ไม่รู้จะนำเงินไปทำอะไรเพราะเป็นนักธุรกิจมาก่อน ก็อยากลองนำเงินมาลงทุนธุรกิจทางด้านเกษตรบ้าง


จากหลายๆตัวอย่างที่ผู้เขียนเคยพบเจอเองกับตา และเข้าไปสัมผัส พร้อมด้วยได้รับทราบถึงแนวคิดของนักลงทุนหลายๆท่าน ทำให้ทราบว่า “เกษตรกรรม” มีเงินอย่างเดียวก็ทำไม่ได้ บทพิสูจน์หลายครั้งที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนบางท่านดำเนินธุรกิจอย่างอื่นประจำอยู่แล้ว หากแต่มีพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอยู่จึงได้ลงทุนซื้อต้นกล้าปาล์มน้ำมันมาปลูก แต่ไม่ได้ลงแปลงไปดูเอง ปล่อยให้คนงานทำงานโดยลำพัง ท้ายที่สุดผลผลิตที่ควรจะได้เมื่อปาล์มอายุ 3 ปี กลับไม่ได้ ต้นทุนก็เสีย ค่าแรงก็จ่าย อย่างนี้แล้วใครกันที่ว่า “คนมีเงินทำอะไรก็ได้” คงจะเป็นไปไม่ได้แล้วกระมัง
ปาล์มน้ำมัน แม้จะเป็นพืชที่ค่อนข้างเรื่องมาก เอาแต่ใจ แต่ใช่ว่าจะปลูกเลี้ยงยากเกินความสามารถ “คนอีสาน” เป็นเกษตรกรที่มีความอดทน และมีความตื่นตัวมากกับการหารายได้ด้วยการปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้งๆที่รู้ว่าอนาคตจะต้องเดินหน้ากันเองโดยไร้การส่งเสริมจากรัฐบาล

หลายคนคงทราบกันแล้วว่าในเวลานี้ ปาล์มน้ำมัน ได้กลายมาเป็นอาชีพที่เกษตรกรหลายคนนำมาเป็นอาชีพหลักหรือ อาชีพเสริมไม่ต่างจาก ดาบตำรวจไพทูล  ภาษาพรม  ชายผู้ที่มีอาชีพรับใช้ชาติท่านนี้ ใครๆมองก็ต้องบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเขามีหน้าที่การงานที่มั่นคง เป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม แต่ด้วยหลายๆมุมมองที่ทำให้เขาหวนนึกถึงสิ่งที่มั่นคงกว่านั้นเพราะอาชีพ “ราชการ” ที่เขารับอยู่ ณ ตอนนี้เหลือเพียงไม่กี่ปีก็ได้ปลดเกษียณเสียแล้ว
ในเวลานี้ “ปาล์มน้ำมัน” ได้กลายมาเป็นอาชีพที่เกษตรกรหลายคนนำมาเป็นอาชีพหลัก  และคงจะรู้กันดีว่า ถ้าพูดถึงปาล์มน้ำมันคงต้องนึกถึงทางภาคใต้ แต่ยังมีไม่กี่คนที่ได้นำเอาปาล์มน้ำมันมาปลูกในภาคอีสาน และยังยึดเป็นอาชีพหลักอีกด้วยบุคคลที่กล่าวนั้นก็คือ  ดาบตำรวจไพทูล  ภาษาพรม  ผู้ที่มีอาชีพรับราชการที่มั่นคง แต่มีมุมองที่แตกต่างจากคนอื่น คืออยากทำอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม และได้ยึดดารปลูกปาล์มน้ำมันมานานกว่า 10 ปี และเป็นบุคคลที่ได้ทำเกษตรกรรมแบบสวนทางจากคำว่า “ภาคอีสานปลูกปาล์มน้ำมันไม่ได้”


ด้วยเหตุที่ครอบครัวทำในเรื่องเกษตรกรรมอยู่แล้ว และอยากหาอาชีพเสริมเพิ่มเติมอีก จะทำอะไรก็ได้ที่เป็นอาชีพเกษตรกรรม จึงมาค้นพบปาล์มน้ำมัน ได้มีการทดลองแล้วว่า ในภาคอีสานมีคนปลูกปาล์มน้ำมันได้ และส่วนตัวผมก็เชื่อว่าต้องทำได้ “ในเมื่อคนอื่นเขายังทำได้เลย ผมก็เลยลองทำดูบ้าง”

จึงได้ย้ายจาก จ.ศรีสะเกษ มาที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อปี 2533 เพราะว่ามาแต่งานที่นี่ด้วย พอมาอยู่ได้ไม่กี่ปีจึงเริ่มซื้อที่ดินเพื่อเอาไว้ทำไร่ ทำสวน และได้มาสร้างครอบครัว ณ อ. นาจะหลวย จ.อุบลราชธานี  นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เหตุที่หันเหมาปลูกปาล์มน้ำมันอย่างจริงจัง

                ตอนนั้นทางเกษตรอำเภอนาจะหลวยได้แนะนำให้ปลูกปาล์มน้ำมัน จึงหันมาทดลองปลูกดู แต่ก็ยังไม่วายที่คนมักจะบอกเสมอว่า อีสานปลูกปาล์มน้ำมันไม่ได้  ทางเกษตรอำเภอนาจะหลวยจึงได้มีการพาเกษตรไปดูงานที่ภาคใต้ ดูในเรื่องของการเพาะเมล็ดก่อน

                เริ่มแรกได้เก็บเมล็ดมาปลูกเล่นๆ คือเอามาทิ้งไว้ บริเวณที่ล้างจาน นานไปก็เริ่มงอกขึ้นมา ทางเกษตรนาจะหลวยจึงเกิดความสงสัยว่าทำไมทางภาคอีสานเราจะปลูกปาล์มน้ำมันไม่ได้ทั้งที่ทิ้งเมล็ดไว้เฉยๆ

                จึงได้มีการไปดูงานอีกรอบ โดยไปที่โรงงานสุขสมบูรณ์ จ.ชลบุรีและมีการนำเอาเมล็ดกลับมาปลูกและได้ของบจาก อบจ. ซึ่งเป็นปาล์มรุ่นแรกที่ทาง อบจ.สนับสนุน ในพื้นที่ 760 ไร่ จำนวน16,720ต้น

                “เมื่อปี 2549 ทาง อบจ.สนับสนุนงบมาเท่าไหร่ ทางผมไม่ได้ทราบถึงตัวเลขคือ เขาไปประมูลมาให้เราแล้ว ทางเกษตรสมบูรณ์เขาก็เอามาให้”


คุณสมบัติของผู้ที่จะมาขอพื้นที่นั้นต้องมีที่ทำกินในเขต อำเภอนาจะหลวย เท่านั้น!!!  ทางเกษตรอำเภอจะเป็นผู้สำรวจรายชื่อ ว่ามีที่ดินอยู่จริงหรือเปล่า แล้วทำการเกษตรอยู่จริงไหม ซึ่งในพื้นที่ 760 ไร่ ได้แบ่งให้เกษตรกรครัวเรือนละ 5 ไร่ ส่วนที่เหลือเกษตรกรซื้อเองด้วย  ในปี 2550-2551 จะมีการเพิ่มพื้นที่ให้ ในรอบที่ 2 ประมาณ 1,300 ร้อยไร่ แต่ส่วนมากก็ไม่พอ เพราะว่ามีคนอยากปลูกเยอะจะต้องซื้อที่ดินมาปลูกเองด้วย “ผมก็ได้ซื้อพื้นที่เพิ่มประมาณ 50 ไร่ และที่ดินตอนนี้มีอยู่ประมาณ 60 ไร่”

แนวคิดการปลูกปาล์มน้ำมัน

หลังจากที่ไปดูงานที่ อ.สีชมพูจ.ขอนแก่น ได้มีการแนะนำจากผู้รู้ และได้ให้ตัวอย่าง การปลูกแบบสามเหลี่ยม มาและได้แนะนำวิธีการปลูกมาด้วย สำหรับการปลูกจะทำเป็นร่อง เป็นแนว โดยใช้สามเหลี่ยมเป็นการจัดคือ 9x9 เมตร แล้วเดินสลับไปเรื่อยๆ จากนั้นก็จะได้เป็นแนวสามเหลี่ยมด้านเท่า

ราคาซื้อที่ในตอนนั้น 12,000 บาท และที่สำคัญที่ตรงนี้เป็นป่าด้วย จึงได้ทำการไถพรวนเพื่อที่จะทำการเกษตรแต่ยังไม่ได้คิดว่าจะทำปาล์มน้ำมัน แต่ตอนนั้นมีคนปลูกยางพาราเยอะมาก จึงมองว่าจะปลูกอะไรดี  พี่ๆน้องๆ จึงแนะนำให้ปลูกปาล์มน้ำมันก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นปาล์มน้ำมันหรือยางพาราดี

คุณไพทูลได้เห็นชาวบ้านทำเมล็ดปาล์มร่วงแล้วเกิดการทลายขึ้น จึงฉุกคิดขึ้นในใจว่า มันต้องปลูกได้ จึงได้หันมาปลูกปาล์มน้ำมันอย่างจริงจัง

“ช่วงที่ไถยังไม่ได้ปลูก มีคนแถวภาคใต้เข้ามาทำงานกลุ่มนั้นเริ่มปลูกรุ่นแรกเมื่อปี 2547 สำหรับต้นกล้าถ้าไม่พอก็ต้องซื้อเพิ่มมาอีก ตามความคิดของผม ผมรู้สึกว่าการการปลูกปาล์มน้ำมัน มีกระบวนการที่ง่ายกว่าการปลูกยางพารานะ คือ การปลูกยางจะต้องคอยเฝ้าดูแลอยู่ตลอด  อันดับแรกเลยคือ ต้องมีแรงงาน และต้องเป็นแรงงานประจำด้วย และที่สำคัญตอนนี้แรงงานก็หายาก  แต่การปลูกปาล์มน้ำมันไม่ต้องมีแรงงานประจำ จ้างเป็นรายวันก็ได้ เพราะตอนนี้ต้นพันธุ์เราก็ยังเล็กอยู่ ไม่ต้องคอยจู้จี้จุกจิกมากเกินไป และการดูแลก็ต่างกัน ปาล์มน้ำมัน 15 วันค่อยมาดูก็ได้ ใส่ปุ๋ยเสร็จก็กลับไปนอนบ้านได้สบายใจ”

ตอนนี้ต้นปาล์มที่สวนอายุ 7 ปี และทุกต้นก็เริ่มมีทลายเต็มคอ และแทงตามขึ้นมาเรื่อยๆ การดูแลจะให้ทางลูกน้องเป็นคนดูแล ให้ปุ๋ยให้น้ำ และผมก็จะช่วยแค่ 10% ที่เหลือก็จะเป็นลูกน้อง เพราะเขาจะเก่งในเรื่องนี้อยู่แล้ว และเป็นคนงานจากภาคใต้ด้วย จึงง่ายต่อการดูแล การจัดการภายในสวน

ต้นทุนการผลิต

                ช่วงปี 2549 ในการซื้อต้นละ 80 บาท สายพันธุ์เทเนอร่า ของเกษตรสมบูรณ์ ปลูกในพื้นที่ 80 ไร่ ไร่ละ 22 ต้น ก็ประมาณ 1,800 ต้น ต้นทุนรวมทั้ง ปุ๋ย สารอาหารต่างๆ ประมาณ 150,000 บาท
การให้ปุ๋ย รดน้ำ

                การรองก้นหลุมใช้ ร็อคฟอตเฟส ใช้รองก้นหลุมประมาณ 2-3 เดือน แล้วจะใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ช่วงที่ต้นยังเล็ก จะยังให้น้อยอยู่ เพราะต้นเล็กยังกินอาหารน้อย จะให้ 3 เดือน/ครั้ง แล้วใช้ปุ๋ยคอกโรยรอบๆโคนต้นเรื่องโรคแมลงที่สวนจะไม่ค่อยมี แต่ตอนต้นที่ยังเล็กๆอยู่จะมีหนูที่คอยมากัดกินใบ ลำต้น แต่ยังไม่ถึงกับกัดขาด ในเรื่องของการให้น้ำ จะใช้ระบบธรรมชาติ เพราะในเรื่องของต้นทุนต่างๆก็มีจำนวนจำกัด

                “เวลากัดก็จะกัดไม่ขาดนะ ที่ผมไปดูสวนมาก็ประมาณ 7-8 ต้น ทีแรกเราก็นึกว่าจะไม่โดนนะ พอมากดูอีกที มันดันกินไปเรียบร้อยแล้ว”

                สำหรับการตัดแต่งทางล่าง ตามที่กรมวิชาการบอกมาคือ 2-3 ปี แต่ว่าชาวบ้านทั่วไปจะตัดแต่งประมาณ 2 ปี สำหรับสวนของคุณไพทูล จะตัดแต่งตอนอายุได้ 4 ปี ห้ามตัดก่อนที่ต้นจะโต เพราะว่า ต้นมันจะเสียทรง ผอม เอวขอด

                “ในการทำให้อ้วนนั้นมันจะเกี่ยวข้องกับการตัดแต่งกิ่งด้วย คือจะพยายามตัดแต่งให้ห่างเข้าไว้ แต่ไม่ใช่ตัดให้จำริบเลยนะ แล้วมันมันก็จะแตกกิ่งออกมา คือ คอกิ่ง ดังนั้นเราจึงต้องพยายามรักษารูปทรงเอาไว้ เพื่อให้ต้นอ้วน สวย”

                ไร่ของคุณไพทูลใช้ระยะเวลาการให้ผลผลิต 3 ปี แรกก็เริ่มออกแล้ว คือ ช่วงวันแรกๆจะยังไม่แทง หรือทิ้ง เพราะว่าทางเกษตรสมบูรณ์ยังคงรับซื้ออยู่ ช่วยเกษตรกรโดยการคละเกรดกันไป ทางโรงงานก็ยังช่วยเกษตรกรโดยการเข้ามาดูที่สวน เพราะว่าทางโรงงานได้สนับสนุนทางเกษตรสมบูรณ์อยู่ และได้ให้เงินมาหมุนในการทำโดยไม่มีดอกเบี้ย ประมาณ 100,000 บาท/ปี ถึงไม่มีดอกเบี้ยแต่พอครบ 1 ปี ต้องเอาเงินมาส่งที่สหกรณ์แล้วค่อยกู้ใหม่ จะต้องมีเงินหมุนในสหกรณ์อยู่ตลอดเพราะเรายังเป็นสหกรณ์ใหม่ต้องค่อยเป็นค่อยไป

                พอทางโรงงานหรือผู้สนับสนุนมีการลงมาดูตามสวนแล้วก็จะมีการประชุมกัน อย่างของตัวแทนของ อบจ. ก็มาประชุมเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับปาล์มว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ตอนนี้ปลูกไปถึงไหนแล้ว และก็จะตามลงไปดูที่สวน

                ทางเกษตรก็ทำการติดตามผลมาโดยตลอด แต่ตอนแรกเกษตรบางที่ก็มีไม่ชอบบ้างและพูดมาว่า “ปลูกมะพร้าวยังไม่ได้ผลเลย แล้วปาล์มจะได้อะไร”  แต่สำหรับเกษตรที่ อ.นาจะหลวย กลับบอกว่า ปลูกได้ เพราะตอนที่ปลูกมะพร้าวยังปลูกทิ้งไว้เฉยๆก็มีลูก ถ้าเราใส่ปุ๋ยเพิ่มธาตุอาหารอีกหน่อยน่าจะได้ผลผลิตดี

                เมื่อเกษตรกรช่วยเรา เราก็ต้องเต็มที่ พอมีคนมาถามว่าต้นพันธุ์ก็จะบอกได้ว่าเป็นต้นพันธุ์ที่มาจาก เกษตรสมบูรณ์ เมื่อต้นพันธุ์ไม่พอเขาก็จะเอามาให้เพิ่มอีก ทางเกษตรสมบูรณ์มีการปลูกอยู่ประมาณหมื่นกว่าไร่ โดยมีการเปรียบเทียบจากแปลงที่อยู่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง 

ก่อนจะเกิดเป็นสหกรณ์ปาล์มน้ำมันจนถึงทุกวันนี้

                3 ปีให้หลังที่มีการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเริ่มปลูกมาตั้งแต่ปี 2547 และมาเริ่มแทงลูก เมื่อปี 2551 เมื่อเห็นว่าปาล์มแทงลูก จึงเริ่มเชื่อว่า สามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้

                จากนั้นก็มีการนำผลปาล์มมาโชว์กัน ทาง อ.นาจะหลวยก็ได้มีการเอามาวางโชว์ด้วยเช่นกัน จนทางผู้ใหญ่ได้พบกับปาล์มของ อ.นาจะหลวย พอดูแล้วเริ่มสนใจ และก็ได้สนับสนุนให้ปลูกปาล์ม และให้จัดตั้งเป็นสหกรณ์ 3 เหลี่ยมมรกต ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 1-2เดือน ก็สามารถเป็นสหกรณ์ได้ เพราะปกติในการจัดตั้งสหกรณ์ต่างๆ จะขอยากมากพอได้สหกรณ์แล้วก็จะมาวางขายร่วมกันมีการถ่ายรูปปาล์มออกมาโชว์หน้าสหกรณ์ช่วงนั้นได้ปาล์มประมาณ 1 รถสิบล้อ ขายได้ประมาณ 100-300 บาท เมื่อตอนปี 2551-2552 เริ่มมีกำลังใจการทำมากขึ้น

                ในช่วงที่เปิดสหกรณ์ใหม่ๆ ก็มีชาวบ้านเข้ามาเป็นสมาชิก โดยให้ชาวบ้านมารับพันธุ์ปาล์มที่สหกรณ์แล้วแนะนำวิธีการในการปลูกด้วย และบอกถึงสาเหตุที่ต้องเป็นสหกรณ์เพราะว่าจะมีปัญหาในเรื่องของการขาย ทางสหกรณ์จะมารับผลปาล์มไปส่งให้โรงงานแล้วราคาก็จะไม่ถูกกด  แต่ถ้าเป็นการส่งให้พ่อค้าคนกลางก็จะโดนกดราคาแน่นอน

                เมื่อก่อนสหกรณ์มีสมาชิกแค่ 52 คน พอไปจดทะเบียนแล้วมีสมาชิกเพิ่มเป็น 400 คน และมีการแต่งตั้งประธานกลุ่มขึ้นมาเอง ทั้งแต่งตั้งกรรมการ โดยไม่มีการเลือกตั้งแต่อย่างใด

                แต่ตอนนี้มีการเลือกตั้งประธานกลุ่ม กรรมการ โดยการส่งรายชื่อเข้าไปทางจังหวัด เมื่อทางจังหวัดอนุมัติแล้วก็จะทำการเลือกตั้ง ซึ่งมีงบประมาณจากการสมัครเข้าร่วมของสมาชิกคนละ 500 บาท“ต้องยอมรับว่าช่วงนั้นจะทำอะไรแต่ละอย่างยากแค้นแสนเข็นเหลือเกิน”

                สถานที่ที่ใช้เป็นสหกรณ์ตอนนั้นคือ สำนักงานเกษตรจังหวัด โดยเขียนป้ายติดไว้เพื่อให้รู้ว่าที่ตรงนี้เป็นสหกรณ์ปาล์มน้ำมันของ อ.นาจะหลวย ทุกอย่างยังเช่าอยู่ไม่ว่าจะเป็น สถานที่การตั้งสหกรณ์ จุดชั่ง

                เมื่อเริ่มมีการทำมากขึ้น ขายได้มากขึ้นและเริ่มมีทุน ก็มีจุดชั่งเป็นของตัวเอง ทำให้การขนส่ง การขายสะดวกขึ้นกว่าเดิม กว่าจะมีพื้นที่เป็นของตัวเองก็ใช้เวลาประมาณ 1 ปีกว่าๆ ทุนก็ได้จากการขายปาล์มของสมาชิกเข้าโรงงาน และมีคนเริ่มสนับสนุนมากขึ้น ทั้งทางโรงงานเองก็ให้การสนับสนุนในเรื่องของเงินลงทุนด้วย

                “ในตอนนั้นมีหลากหลายหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนในเรื่องของเงินลงทุนมา และเรื่องปุ๋ยด้วยนะ ทั้งโรงงานด้วย แต่ช่วงแรกเขาก็ไม่ได้คิดดอกเบี้ยอะไรกับเรา คือเขาให้ราคาสหกรณ์มา 80 บาท เขาก็เก็บคืน 80 บาท แต่ก็มีการบวกเล็กบวกน้อยค่าขนส่งบ้าง รถที่เราจ้างขนส่งปาล์มเราก็ขนกลับเอง ก็เหมือนจ้างเขาทุกอย่าง ก็เป็นแบบนี้มานานแล้วครับ”

                สำหรับราคาการขายปาล์มเช่น ถ้าเป็นสมาชิก ราคาปาล์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 4.50 บาท ก็จะไดราคานี้ แต่ถ้าไม่ใช่สมาชิกจะได้แค่ 4 บาท จึงเป็นเหตุให้มีชาวบ้านมามาเป็นสมาชิก เพราะจะได้รวมตัวกันไว้ เมื่อมีการต่อรอง หรือการโก่งราคาก็จะสามารถช่วยกันได้เพราะเรามีสหกรณ์ มีผู้สนับสนุนอย่างถูกต้อง ถือว่าเป็น ฐาน ที่แข็งแรง และมั่นคง พอสมควร

                “สำหรับปาล์มใน อ.นาจะหลวย ของเรา ผมยังไม่สามารถเปรียบเทียบกับทางภาคใต้ได้แน่นอน เพราะผมถือว่าปาล์มผมเพิ่งจะโตปีแรกเอง  เมื่อก่อนมันโตอยู่แค่ไม่กี่ไร่ เพราะเราไปซื้อจากที่อื่นมาด้วย มาปลูกจริงๆในปี 2550 พอปลูกแล้วฝนก็หมด นึกว่าจะไม่โต แต่ก็ยังมีรอดมาได้ ตอนนั้นได้ผลผลิตที่ 2 ตัน/ไร่/ปี”

                ในเรื่องของเมล็ดปาล์มก็ยังต้องซื้ออยู่ เพราะจะมีที่รับซื้อประจำ โดยการสั่งซื้อมาแล้วให้สมาชิกมาซื้อต่อที่สหกรณ์อีกที กลายเป็นว่าทางสหกรณ์เป็นผู้ขายให้กับชาวบ้านในราคาที่ถูก และสมาชิกที่ซื้อไปก็ยอมรับในเรื่องของคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ด้วย

                สำหรับการจะเป็นสถานที่ในการส่งเสริมปาล์มน้ำมันในจังหวัดนั้นยังไม่ได้มีแนวทางในการทำที่แน่นอน ยังคงใช้พื้นที่ 20 จังหวัดของภาคอีสานอยู่โดยการส่งเสริมไปเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดหนองคาย

                ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรกรรมแบบไหนหรือแม้กระทั่งการปลูกปาล์มเอง ทั้งในภาคอีสาน หรือภาคใต้ ก็ทำให้คนได้รู้ และเริ่มเข้าใจในการปลูกปาล์มมากขึ้น ว่าปลูกเพื่ออะไร แล้วเอาไปใช้อะไรได้ และที่สำคัญสามารถที่จะปลูกในภาคอีสานได้ ทั้งที่บุคคลหลายกลุ่มได้มองเห็นว่าภาคอีสานนั้นปลูกปาล์มน้ำมันไม่ได้ แต่ ณ วันนี้ หลายพื้นที่ในภาคอีสานได้ทำให้เห็นแล้วว่าภาคอีสานก็สามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้เหมือนกัน 

ข้อมูลจากนิตยสารพืชพลังงาน

การปลูกมันด้วยระบบน้ำหยด ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และ คุ้มทุน จริงหรือ?


คอลัมน์ : คนสร้างมัน

โดย : นัตเขต  ตันปิง  ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรนาบ่อคำพัฒนา  จำกัด

               วันนี้ผมทีมงานคนสร้างมันจะพาพี่น้องเข้าไร่มันสำปะหลังอีกแล้วครับ  เพราะเป็นหน้าที่หลักของคนสร้างมันอยู่แล้ว  วันนี้เราจะพาพี่น้องไปดูไร่มันสำปะหลังของ ป้ามะลิ  ม่านมูล  สมาชิกสหกรณ์การเกษตรนาบ่อคำพัฒนา  จำกัด  โดยการบริหารงานของผู้จัดการสหกรณ์ฯนัตเขต  ตันปิง  ที่มีแนวคิดที่ว่า 



“ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต  จะประสบความสำเร็จได้ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ก่อน  แล้วจึงลงมือทำ  โดยไม่ย่อท้อ  ปัญหามีไว้ให้แก้” 

ป้ามะลิ  ม่านมูล  สมาชิกสหกรณ์การเกษตรนาบ่อคำพัฒนา  จำกัด  ได้ปลูกมันสำปะหลังจำนวน  6  ไร่  และได้วางระบบน้ำหยด  และปรับปรุงโครงสร้างดินก่อนปลูกตามระบบของสหกรณ์ฯ  หรือระบบคนสร้างมัน  และผลงานก็อย่างที่เห็นครับ  มันอายุ  4  เดือน  ผลผลิต  และความสมบูรณ์ของต้นมัน  ตลอดจนหัวมันถือว่าใช้ได้เลยทีเดียวครับ  จากการดูคร่าว ๆ น่าจะต้องมี 4 – 5 ตันต่อไร่แล้ว 

ส่วนใหญ่ป้ามะลิจะใช้แรงงานตัวเองในครอบครัวเท่านั้นคือลุงเสาร์ ม่านมูลเท่านั้นไม่จ้าง  และยังมีเวลาเหลือที่จะไปรับจ้างคนอื่นที่ปลูกมันเจ้าอื่นอีก  แล้วถามว่า  แล้วทำไมไม่ทำในไร่มันตัวเอง  ป้ามะลิกับลุงเสาร์บอกกับทีมงานคนสร้างมันว่า  ก็ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ว่างงานตั้งแต่เดือนที่  2  แล้ว  จึงต้องไปรับจ้าง  คนสร้างมันถามว่า  และ 2 เดือนที่ผ่านมาไปรับจ้างชาวบ้านได้เงินเท่าไหร่ครับ  ลุงกับป้าบอกประมาณเกือบ 20,000  บาท 


นอกจากนั้นป้ามะลิยังปลูกพืชหมุนเวียนอื่นอีกไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด  พริก  มะเขือ  ผักสวนครัวต่าง ๆ  ตามคำแนะนำของผู้จัดการนัตเขต  ตันปิง  ผู้จัดการสหกรณ์  ที่เน้นเศรษฐกิจพอเพียง  ทำให้ป้ามะลิมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  และป้ามะลิยังบอกกับทีมงานคนสร้างมันมาอีกว่าปีหน้าไม่กู้เงินสหกรณ์ลงทุนแล้ว  คนสร้างมันถามว่า ทำไมหล่ะ?  ป้าบอกว่าไม่รู้จะกู้เงินมาทำอะไรแล้ว  เพราะต่อไปสหกรณ์ต้องเป็นหนี้ป้าทำไมเพราะ  “ป้าจะเอาเงินไปฝากที่สหกรณ์เพราะป้าเป็นสมาชิกสหกรณ์” 


ครับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังครับในฐานะทีมงานคนสร้างมัน  ได้เห็นเมล็ดพันธุ์ที่เราช่วยเกษตรกรให้เค้าลืมตาอ้าปากได้  อย่างป้ามะลิ  ม่านมูล  ก็หายเหนื่อยครับ  พี่น้องครับแค่ก้าวแรกของเรา  คนสร้างมันเราจะก้าวต่อไปและจะช่วยเหลือพี่น้องที่ปลูกมันสำปะหลังในเรื่องของผลผลิตครับ  งั้นเราเข้าเรื่องกันเลยครับ  เกี่ยวกับระบบน้ำ

                ปัจจุบันนี้ปัญหาเรื่องการปลูกมันสำปะหลังพันธุ์เกร็ดมังกรจัมโบ้  เรื่องผลผลิตไม่น่าห่วงแล้ว  แต่เรื่องเปอร์เซ็นต์แป้งน้อย  จึงเป็นหน้าที่คนสร้างมันที่จะศึกษาพัฒนาว่าจะทำอย่างไร  หลังจากเราศึกษาจึงได้ค้นพบว่ามีสารตัวหนึ่งเป็นแร่ธาตุภูเขาไฟ  มีส่วนช่วยคายบล็อกฟอสเฟต  ช่วยให้รากพืชดูดซับอาหารมากขึ้น  ส่งผลให้เพิ่มเปอร์เซ็นต์แป้งให้กับมันสำปะหลังได้  และเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิตอีกทางหนึ่ง

                เราเริ่มหัวข้อที่ว่า  การปลูกมันสำปะหลังที่ใช้ระบบน้ำเข้ามาช่วย  และส่วนใหญ่  เราเข้าใจกันว่าการปลูกมันที่มีระบบน้ำนั้น  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นระบบน้ำหยดอย่างเดียว  แต่จริง ๆ แล้ว  ระบบน้ำของคนสร้างมันก็มีอยู่สองระบบ  แล้วแต่พี่น้องเกษตรกร  สมาชิกจะใช้ระบบไหน  และต้นทุนต่างกัน  แล้วแต่ละระบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน  ต้นทุนก็ต่างกัน  การลงทุนก็ห่างกันครึ่งต่อครึ่งครับ  และผลผลิตก็ไม่ต่างกันมาก


                ก่อนอื่นที่เราจะมาเริ่มปลูกมัน  ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำหรือไม่มีระบบน้ำ  หัวใจหลักคือ “การปรุงดิน”  ก่อนครับ  การปรุงดินของคนสร้างมัน  “เราจะใช้สารอินทรีย์   อนินทรีย์  และจุลินทรีย์  สามอย่างนี้เข้ามารวมกัน  ก็คือ  ใช้สามอย่างรวมกันแล้วหมักรวมกันประมาณ 3 – 6 เดือน  แล้วจึงนำมาใส่ในไร่มันสำปะหลัง  1  ไร่  ใช้อยู่  1  ตันครับ  แล้วแต่สภาพดิน 
โรยสารปรับปรุงดินคนสร้างมัน ประมาณไร่ละ  1  ตัน  และไถด้วยผาน 3  แปรด้วยผาน 7    แล้วยกร่อง 1.20 เมตร  ระยะห่าง  70  ซม.  ปลูกมันสำปะหลัง  1 ไร่  จะ ปลูกได้  1,900  ต้น  วิธีการปลูกให้ปลูกเฉียง  45  องศา  แล้วคุมหญ้าด้วยยาคุมหญ้า  เป็นอันเสร็จในเรื่องการปลูกมันสำปะหลัง  และระบบน้ำก็จะพูดถึงระบบประหยัดก่อน  เพราะระบบนี้ลงทุนน้อย  แต่ต้องมาคำนวณนะ  ว่าปีนี้ฝนจะตกเดือนไหน  เป็นสิ่งสำคัญมาก  สำหรับระบบนี้  เพราะว่ามันสำปะหลังจะทำงานอย่างมากสุด  3  เดือนเท่านั้นเอง

                ครับเราเริ่มตรงพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชรก็แล้วกัน  สำหรับเกษตรกรท่านอื่นที่ไม่ได้อยู่กำแพงเพชรก็ประมาณการเอานะครับ  เราจะเริ่มต้นปลูกเดือน  มีนาคมครับ  เป็นเดือนที่เหมาะที่สุดสำหรับระบบน้ำเทวดา  หลังจากนี้เราปรับปรุงดินโดยการปรุงดิน  แล้วเราไถผาน 3 แล้วแปลด้วยผาน 7  แล้วก็สูบน้ำใส่ในไร่มัน  หลังจากนั้นประมาณ  7 – 10 วัน แค่ดินพอเหมาะ (แค่รถไถลงยกร่องได้ ก็ยกร่องได้เลย)  ระยะร่อง 1.20 เมตร  และปลูกได้เลย  แต่อย่าลืมต้องปลูกเฉียง 45  องศานะครับ  ปลูกเสร็จก็คุมยาคุมเลย 


หลังจากนั้นประมาณ  15  วัน  เราก็สูบน้ำใส่อีกครั้ง  สรุป  เดือนละ  2  ครั้ง  เป็นเวลา 1 – 3 เดือน  ถ้าโชคดีอาจจะไม่ต้องสูบน้ำใส่ก็ได้  เพราะว่าประมาณกลางเดือนมีนาคม  อาจจะมีฝนหลังฤดู  แต่ถ้ามีนาคมฝนไม่ตกลงมาเราก็สูบน้ำใส่  ถ้าเดือนเมษายนฝนไม่ตกอีกก็สูบน้ำใส่  แต่ถ้าพฤษภาคม  ฝนจะเริ่มตกดี แสดงว่าเริ่มมาแล้วเพราะว่าในน้ำฝนจะมีไนโตรเจนถึง  5 % จะทำให้มันที่มีอายุ  1  เดือน  ถึง  1 เดือนครึ่ง  จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว  จึงทำให้ปัญหาเรื่องหญ้าทำงานแค่ครั้งเดียวครับ 

เข้าเดือนพฤษภาคมมันมีอายุ  2  เดือน  ก็สามารถใส่ปุ๋ยเร่งหัวได้เลยครับ และพอเข้าเดือนมิถุนายนเข้าสู่เดือนที่สามก็ไม่มีงานทำแล้ว  แค่รอใส่ปุ๋ยอีก 2 ครั้ง  คือ  4  เดือน  และ  6  เดือน  จากนั้นมันอายุประมาณ  10 – 11 เดือน  ก็ขุดได้เลย  แต่แนะนำขุดเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์  จะได้พอดีกับการปลูกมันในงวดต่อไป  คือปลูกเดือนมีนาคม – เมษายน  และขุดเดือน  มกราคม – กุมภาพันธ์  จะได้พอดี  10  เดือน  จะได้ทั้งน้ำหนัก และเปอร์เซ็นต์แป้งของมันสำปะหลัง  ผลผลิตของระบบนี้น่าจะได้ 8 – 10 ตันต่อไร่  ถ้าเราคิดว่าเหง้าหรือ 1 ต้นของมันสำปะหลัง  คิดเฉลี่ยที่ 5 – 6  กิโลกรัมต่อ 1 ต้น  และ 1 ไร่  ก็ได้  1,900 – 2,000  ต้น  ผลผลิตก็ตามเป้าที่คิดไว้คือ  8 – 10  ตันต่อไร่แบบสบาย ๆ  โดยไม่ต้องกังวลใจเพราะทำตามระบบที่คนสร้างมันทำไว้ให้  ต้นทุนระบบน้ำเทวดา  ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ไร่ละ 2,000 – 2,500 บาท  สูบน้ำ  6  ครั้ง  คือ  ให้น้ำเดือนละ 2 ครั้ง 


                ส่วนต่อในเรื่องของระบบน้ำหยด  ก็หลักการเดียวกับระบบน้ำเทวดา  คือ  หลังจากที่เราปรับปรุงดินปรุงดินแล้ว  ให้ยกร่อง   แต่เราต้องวางระบบน้ำหยดก่อนปลูกมัน   ทำการทดลองเดินระบบน้ำหยด  แล้วจึงค่อยปลูกมันสำปะหลัง  ปลูกเสร็จแล้วคุมยาคุมหญ้า  และการให้น้ำอาจจะให้  7 – 10  วัน  ให้ครั้งหนึ่ง  ระยะห่างการปลูกในระบบน้ำหยดคือ  1.20  เมตร × 90  ซม.  1  ไร่จะปลูกได้  1,500  ต้น  แต่ระบบน้ำหยดจะปลูกห่างกว่า  ผลผลิต  10 – 15  ตันต่อไร่  โดยเฉลี่ยน้ำหนักต่อต้นอยู่ที่ 7 – 10  กิโลกรัมต่อต้น × 1,500  ต้นต่อไร่  ผลผลิตจะได้ 10 – 15  ตันต่อไร่  การลงทุนระบบน้ำหยดเฉลี่ยแล้ว  1  ไร่จะลงทุนประมาณ  5,000 – 6,000  บาท  ส่วนใหญ่จะแพงค่าแรง  แต่ถ้าเราทำเองก็จะอยู่ที่ 4,000 – 4,500  บาท  และสามารถให้ปุ๋ยทางน้ำได้

สรุประบบน้ำที่คนสร้างมันคิดให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังมี  2  ระบบ คือ 

ระบบที่ 1  ระบบน้ำเทวดา  คือ  ปลูกต้นฤดูฝน  ประมาณช่วงเดือน  มีนาคม – เมษายน  และอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเข้าช่วย  จะทำให้ช่วงที่มันต้องการน้ำที่สุดคืออายุ 3 – 4 เดือน  น่าจะพอดีกับความต้องการน้ำ  ต้นทุนก็ต่ำอยู่ที่ประมาณ  2,000 – 2,500  บาทต่อไร่  อุปกรณ์ที่ใช้ก็ท่อกับสายยางครับ  อายุการใช้งาน 3 – 5 ปี  เหมาะสำหรับพี่น้องเกษตรกรที่มีงบน้อยครับ

ระบบที่  2  ระบบน้ำหยด  คือ  ระบบน้ำหยดจะเริ่มปลูกเหมือนกันคือ เริ่มเดือนมีนาคม – เมษายน  แต่อาจจะให้น้ำถี่ในช่วง 7 – 10  วัน  สามารถให้ปุ๋ยทางน้ำได้  และไม่ต้องกังวลเรื่องฝนจะตกหรือไม่ตก  และสามารถเร่งผลผลิตได้ตลอดทั้งปี  ทำให้ผลผลิตเพิ่มมากกว่าระบบที่  1 จำนวน  2 – 5 ตัน  จากประสบการณ์ที่ทำมา  แต่ต้นทุนต่อไร่ประมาณ  4,000 – 6,000  บาทต่อไร่  อายุการใช้งานประมาณ  2 – 3  ปี  และต้องมีค่าใช้จ่ายในปีต่อไปประมาณ 2,000 – 3,000  บาท  ในเรื่องของเช่น  ค่าข้อต่อ  กาว  ข้อต่อตรงสายน้ำหยด  และค่าแรงในการเก็บและการติดตั้ง  ก็เป็นทางเลือกสำหรับพี่น้องชาวไร่มันสำปะหลังครับ 

รายละเอียดสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ “www.คนสร้างมัน.com”  หรือจะโทรมาสอบถาม   หรือถ้าท่านใดต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ต้องการมาศึกษา ดูงาน  ลงภาคสนามลงพื้นที่จริง ๆ  ติดต่อโดยตรงได้ที่เบอร์“คนสร้างมัน”เบอร์โทร. 081-9725012  หรือติดต่อได้ที่สหกรณ์การเกษตรนาบ่อคำพัฒนา  จำกัดเบอร์โทร. 055-763330

“เราคือมิตรแท้ของเกษตรกรตัวจริง” จากใจคนสร้างมัน “นักสู้หลังพระ”


ข้อมูลจากนิตยสารพืชพลังงาน

สมศักดิ์ คุณเงินเดินหน้านำทีม ปลูกปาล์มน้ำมันบนแผ่นดินอีสานตั้งเป้า 10 ปี 100,000 ไร่


สกู๊ปพิเศษปาล์มน้ำมันอีสาน

เรื่อง/ภาพ พยัคฆ์ทมิฬ

หลังที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสานได้ปลูกปาล์มน้ำมันมาตั้งแต่ราวๆ ปี 2548 โดยส่วนใหญ่จะนำพันธุ์ปาล์มน้ำมันจากศูนย์วิจับสุราษฎร์ธานีทั้ง 1-6 ผลการทดลองปลูกพบว่าปาล์มน้ำมันลูกผสมสุ ลูกผสมสุราษฎร์ธานี 2 (เดลี่ ลาเม่) สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรองลงมาเป็นราษฎร์ธานี 1 (เดลี่ x คาลาบาร์)

ข้อมูลเบื้อต้นจากที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่รวบรวมได้สักยะยะทำให้ทราบว่าภาคอีสานมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องเปิดดำเนินการควบคู่กันมาจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิต ปุ๋ย-ยา ระบบน้ำ ลานเท และโรงงานหีบน้ำมันปาล์มดิบ ก่อนที่ทุกอย่างจะต้องมาสะดุดหลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดิน คุณสมบัติของดินความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืช ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทานประกอบการพิจารณากำหนดเขตเหมาะสม บทสรุปคือ อีสานไม่เหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อยืนยังข้อมูลการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสาน ที่ผ่านมาพร้อมกับมุมมองจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่

ข้อมูลเบื้อต้นจากที่ผู้เขียนได้ลงพื้นที่รวบรวมได้สักยะยะทำให้ทราบว่าภาคอีสานมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องเปิดดำเนินการควบคู่กันมาจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิต ปุ๋ย-ยา ระบบน้ำ ลานเท และโรงงานหีบน้ำมันปาล์มดิบ ก่อนที่ทุกอย่างจะต้องมาสะดุดหลังจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดิน คุณสมบัติของดินความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืช ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทานประกอบการพิจารณากำหนดเขตเหมาะสม บทสรุปคือ อีสานไม่เหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อยืนยังข้อมูลการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสาน ที่ผ่านมาพร้อมกับมุมมองจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่

สมศักดิ์ คุณเงินเดินหน้านำทีม ปลูกปาล์มน้ำมันบนแผ่นดินอีสานตั้งเป้า 10 ปี 100,000 ไร่



“ไม่มีพืชชนิดไหนที่ปลูกเพียงครั้งเดียวแล้วให้ผลตอบแทนกับเกษตรกรได้นาน 25-30 ปี อย่าง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ถ้าเราเพิ่มพืชเศรษฐกิจของอีสานมาอีกมิติ ต้องมีการปรับเงื้อนไขเพื่อให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งสภาเกษตรกรภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัดได้มีการประชุม ระดมความคิดเห็นที่ตรงกันว่า ต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จากเดิมที่มีอยู่เพียง 7% เป็น 25% หากเราได้รับการอนุมัติและได้ระบบชลประทานลงในพื้นที่ได้ แล้วเราจะไม่ขออะไรอีกเลยด้านเกษตร” นี้คือวาทะกรรมของ สมศักดิ์ คุณเงิน  ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น 


เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2556 ประธานสภาเกษตรกรฯได้เปิดบ้านให้ผู้เขียนและ ทีมงานนิตยสารพืชพลังงาน ได้เข้าสัมภาษณ์พิเศษ ที่ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เกี่ยวกับประเด็นของเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ต่างก็รู้สึกว่ากำลัง “ถูกจำกัดสิทธิเกษตรกร” ทำให้เกษตรกรภาคอีสาน 103 ล้านไร่เสียโอกาส ไม่ได้รับการสนับสนุนให้มีความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)


กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ออกประกาศกำหนดเขตเหมาะสม (Zoning) สำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ซึ่งเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดภาคอีสาน 20 จังหวัดได้มีการประชุม ซึ่งทุกคนต่างก็มีความเห็นตรงกันว่าประกาศฉบับดังกล่าว ไม่ตรงกับความเป็นจริง ถือเป็นการจำกัดสิทธิและโอกาสของเกษตรกรในภาคอีสาน

ต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสานอย่างน้อย 25% ของพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยด้านภาพเกษตรกรรม

ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น ระบุว่าข้อจำกัดที่เป็นจุดอ่อนที่เป็นภาพรวมของภาคอีสาน คือ “น้ำ”ในพื้นที่ภาคอีสาน 103 ล้านไร่ เป็นเขตชลประทานเพียง 100 ละ 7 หรือ 7% ของพื้นที่ทั้งหมด นั่นหมายความว่า 103 ล้านไร่ มีพื้นที่ที่เป็นชลประทานเพียง 7 ล้านไร่ นอกเหนือจากนั้นเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติ และ พื้นที่อาศัยน้ำฝน ซึ่งหาความแน่นอนแทบไม่ได้ ชีวิตของเกษตรกรภาคอีสานจึงฝากไว้กับสิ่งที่เรียกว่า “เทวดา” นั่นเอง

คุณสมศักดิ์ให้ข้อมูลต่อว่า ภาคกลางมีพื้นที่ชลประทานอย่างน้อย 52% ภาคเหนือประมาณ 19-20% และภาคใต้ประมาณ 20% แต่เกษตรกรภาคใต้จะได้ปริมาณน้ำฝนต่อปีที่มากพอจึงไม่มีปัญหาเรื่องของปริมาณน้ำหากเป็นไปได้ภาคอีสานขอเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้เท่ากับภาคกลาง คือ ประมาณ 52% ของพื้นที่ ก็จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้กับภาคอีกสานได้ถึง 50 ล้านไร่ ผลผลิตทางการเกษตรทุกส่วนจะออกมาอย่างมหาศาล แน่นอน ปาล์มน้ำมัน ก็จะเป็นพืชอีกหนึ่งทางเลือก ที่ยั่งยืนให้กับเกษตรกรได้อย่างมั่นคงถาวร


คุณสมศักดิ์ย้ำว่า “ไม่มีพืชชนิดไหนที่ปลูกเพียงครั้งเดียวแล้วให้ผลตอบแทนกับเกษตรกรไปได้ 25-30 ปี ได้อย่าง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ถ้าเราเปลี่ยนมิติ พืชเศรษฐกิจของอีสานได้ ต้องมีการปรับเงื้อไขความสำเร็จ นั่นคือ ต้องเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ซึ่งสภาเกษตรกรภาคอีสานทั้ง 20 จังหวัดได้มีการประชุม ระดมความคิดเห็น เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม2556 ที่ผ่านมา ทุกคนสรุปตรงกันว่า อีสานขอระบบชลประทานเพิ่ม 25% ของพื้นที่ จากเดิมที่มีอยู่แล้วเพียง 7% ของพื้นที่ แล้วเราจะไม่ขออะไรอีกเลย นอกนั้นเราจะทำเอง

สรุปเสนอไปยังค้างการพิจารณาอยู่ที่สภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งกำลังจะประมวลเรื่องสรุปเสนอต่อไปยังนายยกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการตามพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ และจากการศึกษาข้อมูล ทางด้านเทคนิค และ วิชาการ จากทางกรมชลประทาน สามารถที่จะนำน้ำจากลำน้ำโขง เข้ามาใช้ในพื้นที่อีสานได้ และยังสามารถที่จะสร้างอ่าง หรือ กักเก็บน้ำที่มีอยู่ 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรได้อีก สามารถเพิ่มพื้นที่ภาคเกษตรได้มากกว่า 31 ล้านไร่ ต้องย้ำว่านี้เป็นข้อมูลจากกรมชลประทานนะครับ” 


ด้านงบประมาณ หรือการสร้างระบบชลประทานครั้งนี้ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่าไม่น้อยกว่า 2.5 แสนล้านบาทในขณะเดียวกันกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ก็ให้ข้อมูลมาว่าในภาคอีสานมีแหล่งที่มีศักยภาพที่จะนำน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อการเกษตรได้มากกว่า 11 ล้านไร่ ซึ่งจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานเพิ่มเติมได้มากกว่า 30 ล้านไร่

“มติในที่ประชุมที่มีคนมากกว่า 3,000 คนที่มาประชุมกัน ที่หอประชุมกาญจนาพิเศษเมื่อวันที่ 10 พ.ค.56 ที่ผ่านมา เราขอให้รัฐบาลเพิ่มพื้นที่ชลประทานสำหรับภาคอีสานจากที่มีอยู่แล้ว 7% ให้ได้อย่างน้อย 25% ซึ่งต้องเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี ถามว่าทำไมต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขนาดนี้ ก็เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรมันรอคอยไม่ได้ ยิ่งปล่อยให้เป็นปัญหาคาราคาชังไปก็ยิ่งเหมือนทำร้ายเกษตรกร


ปี 2558 จะเปิดประตูบ้านตอนรับเพื่อนบ้าน 10 ประเทศในอาเซียน แล้วเราจะมีอะไรไปแข่งขันกับเขาได้ เพราะความพร้อมเราไม่มี น้ำทำนาไม่มี พื้นที่ทำกินก็จำกัด มีพื้นที่ แต่ไม่มีน้ำเป็นปัจจัยในการเพราปลูก ปลูกข้าวก็สู้เวียดนามไม่ได้ ปลูกยางก็สู้ทางมาเล อินโดไม่ได้ ปาล์มน้ำมันก็จำกัดพื้นที่ให้แค่ภาคใต้ ภาคตะวันออก 3-4 ล้านไร่เท่านั้นเอง แล้วทำไมไม่คิดอยากจะขยายให้มันมากขึ้น กลายเป็นว่าผลผลิตของพืชผลทางการเกษตรสู้นานาประเทศไม่ได้เลย

ผมยืนยันถ้าตราบใดยังไม่มีน้ำ เราไม่มีทางสู้เขาได้ แพ้ถาวร ถ้าไม่อยากแพ้ก็หาน้ำมาให้ภาคอีสาน เพราะพื้นที่เกษตร 40% มันอยู่ที่อีสาน ประชากรภาคเกษตรที่อีสานมีมาก หากเราช่วยให้เขาเดินหน้าประกอบอาชีพได้สะดวกขึ้น จะเป็นพลังมหาศาลเพียงใด ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านเกษตรของเมืองไทย เศรษฐกิจจะหมุนเวียนแค่ไหน รายได้ของประชากรและ ของประเทศจะสะพัดเพียงใดให้พิจารณาดูเอาเอง” คุณสมศักดิ์แสดงแนวคิดในมุมมองส่วนตัว บวกกับประสบการณ์และข้อมูลที่รวบรวมได้ในพื้นที่

ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น เน้นย้ำเกี่ยวกับเรื่องของการสร้างระบบชลประทาน หรือ น้ำเพื่อการเกษตร ว่าเป็นหัวสำคัญในการปลูกพืชพลังงาน อย่าง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และ พืชอื่นๆ หากการดำเนินการสำเร็จพื้นที่อีสานจะกลายเป็นแหล่งผลิตผลผลิตทางการเกษตร พืชพลังงาน และ พืชอาหาร ให้กับประเทศอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น
ภูมิประเทศต่างๆของประเทศไทยไม่ว่า ภาคใต้ ภาคกลาง หรือ ภาคเหนือ มักจะเจอวิกฤติธรรมชาติบ่อยๆ แต่เจอหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาลและชัยภูมิที่ตั้ง ณ วันนี้ต้องมองกันถึงอนาคตแล้วว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้าจะอยู่กันอย่างไร ประกอบกับปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน ที่สำคัญอนาคตอันใกล้ หรือ อีก 2 ปี ข้างหน้ากำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนด้วย จึงควรเร่งเพิ่มศักยภาพให้กับภาคเกษตรกรรมให้มากขึ้น

“ยกตัวอย่างประเทศเวียดนาม ปลูกข้าว 2 ปี 7 รอบ เพราะเขาไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ เขามีน้ำ 80% ของพื้นที่ สำหรับบ้านเรามีพื้นที่ปลูกข้าวอยู่ประมาณ 40% ของพื้นที่เกษตร แต่พื้นที่ 40% ดังกล่าวอยู่ในภาวะขาดน้ำ จะเห็นได้ว่าจุดอ่อนอยู่ที่เรื่องของ “น้ำ” เพียงอย่างเดียว ฟันธงเลย ถ้าเรามีน้ำเพียงพอในการทำเกษตร ทุกอย่างจะหมุนเวียนไปตามกลไกของมันอย่างอัตโนมัติ

ศักยภาพการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสาน

                สมศักดิ์ คุณเงินได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาเกษตรกรได้ประมาณ 1 ปีเศษ จากความสนใจส่วนตัวด้านเกษตรในพื้นที่เป็นพื้นฐาน มีความต้องการไขปัญหาของเกษตรกรชาวอีสานที่ต้องประสบปัญหาภาวะความแห้งแล้งมาตลอด อีกด้านหนึ่งก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นผู้แทนราษฎรท้องถิ่นมาก่อนได้คลุกคลีตีวงกับพี่น้องเกษตรกรมากว่า5-6 สมัย จึงทำให้เขาทราบถึงแก่นแท้ของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งการขาดแคลน “น้ำเพื่อการเกษตร”จึงทำเกิดแนวคิดว่าหากสามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำ หรือ ปัญหาการเพิ่มศักยภาพการผลิตผลทางการเกษตรได้ก็จะช่วยให้ปัญหาทุเลาเบาบางลง หรือถ้ายังแก้ไม่ได้ก็จะมีการแสวงหาทางเลือกเพิ่มเติม ที่จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น มีความยั่งยืนในระยะยาว และมีเสถียรภาพมากขึ้น

“พี่น้องเกษตรกรอีสานส่วนใหญ่ปลูกพืชล้มลุก คือ ข้าว มันสำปะหลัง มีปัญหาล้มๆลุกๆเหมือนชื่อพืชและก็มีปัญหามาตลอด และเป็นปัญหาให้รัฐบาลต้องแก้ไขตลอดมาเช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากเรามีโอกาส มีอาชีพที่มีความยั่งยืน ปลูกพืชเศรษฐกิจ 1 ครั้ง อยู่ได้นาน 20-30 ปี ดูแลครอบครัวได้อย่างเป็นระบบ เหมือนพี่น้องทางใต้ เหมือนพี่น้องทางภาคตะวันออก



หากทำได้อย่างนี้ก็จะเกิดอานิสงค์ไปสู่ระบบต่างๆของการประกอบอาชีพของเกษตรกรให้เขาได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากที่กล่าวมาเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผม ผมจึงสมัครเข้ามาเป็นประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น เพื่อจะเข้ามาปฏิบัติภารกิจต่างๆเติมเต็มให้มีการขับเคลื่อนได้ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่ผมยืนยันว่าเป็นความตั้งใจที่สุจริต ตรงไปตรงมา ถ้าบ้านนี้เมืองนี้ได้รับการแก้ไขปัญหา เรื่องเดียวที่ผมอย่างเห็นอยู่ทุกวันนี้คือภาคอีสานได้รับการช่วยเหลือด้านชลประทานเพิ่มขึ้นแล้วเรื่องอื่นๆสามารถแก้ไขได้หมดเพราะแล้งซ้ำซาก ก่อให้เกิด ความจนซ้ำซาก”


ประธานสภาเกษตรฯ เผยข้อมูลให้ทราบว่าในภาคอีสานมีศักยภาพปลูกปาล์มน้ำมันได้ แต่ไม่ใช้ทุกตารางนิ้ว ภาคอีสานมีพื้นที่ทั้งหมดโดยประมาณ

สำหรับพื้นที่ที่ไม่ติดลำน้ำโขงหากแต่สามารถปลูกได้จะมีเป็นหย่อมๆ ส่วนใหญ่จะมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ห้วย หนอง คลอง บึง และ ติดกับพื้นที่ชลประทาน เป็นต้น

“สภาพดินเราสามารถปรับปรุงได้ แรงงานเรามีปริมาณมากพอ ผมเชื่อว่าคนของบ้านเราพร้อมที่เสียสละ พร้อมที่จะทำงานหนัก พร้อมสู้ แต่จะให้เขาสู้ภายใต้ภาวะความแห้งแล้งอย่างนี้จะให้เขาสู้อย่างไร ตราบใดที่ไม่มีน้ำ พื้นที่อีสานก็ไม่มีทางได้รับการประกาศเขตส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันอยู่แล้ว อ้างว่าเราไม่เป็นพื้นที่ไม่เหมาะสม เพราะแล้ง ทั้งๆที่เขามีศักดิ์ภาพปลูกได้ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องชลประทานเลย

ถามว่าปัญหาแล้งนี้มันแก้ไม่ได้หรือไง จะปล่อยให้เขาอยู่กับสภาพที่แล้งซ้ำซากและก็จนซ้ำซากอย่างนี้หรือ ที่นี้ไม่ใช้ส่วนหนึ่งของประเทศไทยหรือ ภาคอีสานมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 20-21 ล้านคน จาก 60 ล้านคนทั่วประเทศ มีเนื้อที่เป็น 1 ใน 3 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ ถ้าคิดว่าภาคอีสานเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และ มีส่วนสำคัญ ทำไมต้องปล่อยให้เขาจนอยู่ตลอด ช่วยให้เขาได้มีทางเลือกหน่อยได้ไหม หรือ จะเก็บเขาเหล่านี้ไว้เป็นแรงงานราคาถูกให้กับประเทศเท่านั้น”

                ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชที่มีความต้องการน้ำค่อนข้างมาก น้ำจึงเป็นหัวใจสำคัญอันดับต้นๆ ในขณะที่สภาพดินที่มีความจำเป็นลองลงมา แต่ก็ยังคงสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ไม่ยาก ภาคอีสานประสบกับปัญหาเข้าขั้นวิกฤติเรื่องน้ำจนเรียกได้ว่า “แล้งซ้ำซาก”

                อย่างไรก็ตามแม้จะประสบปัญหาแล้งซ้ำซากมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีน้ำเลย อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ยังคงมีบางส่วนที่มีน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเกษตรกรในพื้นที่ประกอบอาชีพปลูกข้าว และพืชไร่ ซึ่งเป็นพืชล้มลุก บางปีก็ไม่ได้แม้แต่ทุนคืน


ในฐานะที่คุณสมศักดิ์ เป็นประธานสภาเกษตรกรฯ จึงเกิดแนวคิดว่าหากมีการนำพืชที่มีศักดิ์ในการสร้างรายได้มาทดลองปลูกน่าจะเป็นทางเลือกที่เป็นความหวังใหม่ให้กับเกษตรกรได้

“ปาล์มน้ำมัน”เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ หากอีสานสามารถปลูก และให้ผลผลิตได้ จะเป็นพืชที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังนั้นหากจะปลูกปาล์มน้ำมันบนแผ่นดินอีสานจึงจำเป็นเตรียมความพร้อมองค์ประกอบสำคัญต่างๆ อย่าง


                1.จัดสรรพื้นที่ที่เป็นบริเวณที่ราบลุ่ม และอยู่ใกล้แหล่งน้ำ

                2.เป็นพื้นที่ที่มีสภาพดินที่เหมาะสม หรือ ต้องได้รับการปรับปรุงสภาพให้เหมาะสม

                3.มีการจัดการบริหารสวนที่ถูกต้อง

                ปัจจุบันพื้นที่อีสานปลูกปาล์มน้ำมันไปแล้วในหลายพื้นที่ โดยทางกรมวิชาการเกษตรได้เก็บข้อมูลภาพรวมต่างๆทั้งภาคอีสานไว้ ทั้งนี้ก่อนที่เกษตรกรจะลงมือปลูกปาล์มน้ำมันทุกแปลงจะผ่านการตรวจวิเคราะห์สภาพแปลง เพื่อลดความเสี่ยงด้านการลงทุนให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นในเขตภาคอีสานมีศูนย์วิจัยและพัฒนาของกรมวิชาการมีอยู่ทุกจังหวัด ที่ซุ้มวิจัยเรื่องนี้มากว่า 7 ปี และมีพันธุ์ที่คิดว่าเหมาะสม กับพื้นที่ภาคอีสานจนกระทั้ง มีองค์ความรู้ที่สามารถแนะนำเกษตรกรได้

“หากภาคอีสานได้ปลูกปาล์มน้ำมัน ผลที่ตามคือสามารถช่วยลดการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศได้อย่างแน่นอน ถ้าหากว่านโยบาย ด้านพลังงานมีความชัดเจน เช่น ประกาศนโยบาย B7 B10 หรือ B100 เป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะนำเอาน้ำมันจากผลผลิตทางการเกษตร หรือ จากปาล์มน้ำมัน ไปเป็นวัตถุดิบในด้านของพลังงานทดแทน ตามนโยบายให้ชัดเจน เมื่อนโยบายมีความชัดเจน และจริงจังแล้ว กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรโรงงานจะได้เดินตามได้อย่างมั่นใจและชัดเจนตามไปด้วยเราฝันว่าถ้าอีสานเราปลูกปาล์มน้ำมันได้ 3-5 ล้านไร่ เมื่อรวมกับพื้นที่ทั้งหมดทั้งประเทศ เราก็จะเป็นผู้ปลูกปาล์มน้ำมันรายใหญ่อีกรายหนึ่งของโลก”


                เกษตรกรในพื้นที่อีสานได้ปลูกปาล์มน้ำมันกันมานาน จนได้เก็บผลผลิตจำหน่ายกันแล้ว แม้กระทั้งโรงงานหีบปาล์มน้ำมันก็มีผู้ประกอบการทุ่มทุ่นสร้างและดำเนินการหีบมาได้สักระยะแล้ว


     ผลกระทบจากผลการประกาศเขตโซนนิ่ง (Zonning)

เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ใน จ.เลย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น บึงกาฬ ฯลฯ เริ่มมีการตั้งกลุ่มสหกรณ์พืชพลังงาน บางแห่งก็ใช้ชื่อว่า สหกรณ์ปาล์มน้ำมัน แตกต่างกันไป แต่เมื่อรวมอำนาจเจริญ ที่มีการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งเตรียมส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อที่จะเตรียมดำเนินการสร้างโรงหีบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อรองรับผลผลิตในพื้นที่ แต่ต้องมาสะดุดเรื่องโซนนิ่งส่งผลให้แหล่งสนับสนุนด้านเงินทุนสะดุดไปด้วย ผู้ประกอบการเกี่ยวกับปุ๋ย ยา และกล้าพันธุ์ชะลอตัวไปด้วยเพราะเกิดความไม่มั่นใจที่จะดำเนินกิจการ

“เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ทั่วอีสานได้สะท้อนปัญหาและผลกระทบไปยังสภาเกษตรกรจังหวัดให้รับทราบ เพราะในมุมมองของเกษตรเขามองว่าไปกลั่นแกล้งเขาทำไม เพราะเขาปลูกกันได้ มีผลผลิตออกจำหน่าย ส่วนคนที่จะปลูกใหม่ไปทำเรื่องขอกู้ ธกส.ก็ไม่ได้ เพราะ ธกส.ก็อ้างว่าไม่ใช้เขตส่งเสริม กลายเป็นว่า ผีซ้ำด้ามพลอย แล้วจะให้เกษตรกรเขาเดินไปอย่างไร

ลองมองดูต่างประเทศ ทำไมประเทศอื่นๆเขาถึงช่วยเกษตรกรของเขา อย่างประเทศมาเลเซีย เท่าที่ทราบมาเขาให้เกษตรกรตัดยางทิ้งแล้วปลูกปาล์มน้ำมันแทนด้วยซ้ำไป นอกจากนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของประเทศเราทำไมไปส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซียกว่า2 ล้านไร่ ถ้าไปส่งเสริมที่โน้นได้ ก็มาส่งเสริมที่อีสานหน่อย 

ผมอยากเห็นความจริงใจของผู้ที่ควบคุมทิศทางด้านพลังงานของประเทศเรา จะกระทรวงพลังงานก็ดี หรือ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานก็ดี หากได้มานั่งพูดคุยกันผมเชื่อว่าอีสานจะสามารถสร้างวัตถุดิบด้านพลังงานให้กับประเทศได้มหาศาลในระยะยาว”

สำหรับความเคลื่อนไหวของสภาเกษตรกรจังหวัดแต่หละจังหวัดที่เกี่ยวข้องหลังจากมีประกาศพื้นที่โซนนิ่งก็ได้มีการประชุมหารือพร้อมทั้งเสนอเรื่องดังกล่าวเป็นวาระไปยังสภาพเกษตรกรแห่งชาติเพื่อให้ได้พิจารณาและดำเนินการต่อ ซึ่งทางสภาเกษตรกรแห่งชาติได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา และเสนอเรื่องต่อไปยังรัฐบาลให้ทบทวนเรื่องโซนนิ่งใหม่อีกครั้งไม่ว่าจะเป็น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และพืชอื่นๆที่อยู่ในประกาศ ให้เกิดความสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้คุณสมศักดิ์ให้ข้อสังเกตุว่า

“ตอนนี้เรื่องอยู่ที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรพิจารณา แต่ก็ยังนิ่งอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ในส่วนตัวผมเชื่อว่า รัฐมนตรีกระทรวงเกษตร หรือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังนำเสนอนโยบายที่หลงทิศหลงทาง ทำร้ายเกษตรกร โดย ความปรารถนาดี ทำให้หัวหน้ารัฐบาลเข้าใจว่าที่นำเสนอขึ้นไปนั้นถูกต้อง เหมาะสม แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ ทำร้ายทั้งความรู้สึก ทำลายศักยภาพ และ ทำลายโอกาส ปิดกั้นโอกาสของเกษตรกรในพื้นที่

เพราฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเห็นว่าต้องมีการทบทวนในไม่ช้าก็เร็ว มิเช่นนั้นเมื่อเกษตรกรทุกคนเข้าใจว่าถูกกีดกันในการปลูกพื้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ปาล์มน้ำมัน หรือ แม้แต่ยางพารา ถ้าอย่างนั่นขอตั้งคำถามว่า แล้วจะให้เขาปลูกอะไร เป็นพืชทางเลือก แล้วยิ่งล้าสุดเมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา มีนโยบายออกมาว่าให้เปลี่ยนที่นาดอนมาปลูกอ้อยโรงงาน นั่นคือคำตอบใช้ไหมว่า ที่สงวนไม่ให้เราปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชพลังงาน พืชเศรษฐกิจ เพราะรักษาพืชที่ไว้ปลูกอ้อยโรงงาน อย่างนั้นหรือ รัฐบาลต้องทำความเข้าใจให้กับประชาชน”


ผลในเชิงบวกหากทำให้ภาคอีสานสามารถปาล์มน้ำมันได้

                คุณสมศักดิ์ให้ข้อมูลต่อว่า ไม่นานมานี้มีนโยบายสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer)ของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อต้องการให้เกษตรกรไทยเป็นมืออาชีพและพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง จนสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เกษตรกรที่จะถูกเรียกว่าเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์จะต้องผ่านเกณฑ์คุณสมบัติหลัก 2 ประการ คือ มี รายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ครัวเรือน/ปี และต้องมีคุณสมบัติขั้นพื้นฐาน 6 ประการ

ปัจจุบันรายได้ด้านเกษตรกรรมของเกษตรกรเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 1.4 แสนบาท/ครัวเรือน/ปี เกษตรกรภาคกลางมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 แสนบาท/ครัวเรือน/ปี ในขณะที่เกษตรกรในภาคอีสานมีรายได้เฉลี่ยอยู่เพียง 7 หมื่นบาท/ครัวเรือน/ปีเท่านั้นเอง

“เมาหรือเปล่าในเมื่อรายได้ของเกษตรกรในภาคอีสาน ณ ตอนนี้อยู่แค่ 7 หมื่นบาท/ครัวเรือน/ปีเท่านั้นเอง ในขณะที่เกษตรกรภาคกลางมีรายได้โดยเฉลี่ย 1.8 แสนบาท/ครัวเรือน/ปี ทั่วเฉลี่ยประเทศ 1.4 แสนบาท/คน/ปี มันเป็นความจริงที่ขมขื่น จริงๆเรามีศักยภาพแต่เราต้องปรับปรุง เราถึงจะสามารถแข่งขันกับกลุ่มประเทศต่างๆในอาเซียนได้ เราแข่งกับเขาด้วยเหตุหรือปัจจัยอะไรได้บ้าง ภาคอีสานมีความมั่นคงด้านโครงสร้าง หากแต่ ภัยแล้ง คือ ปัญหาของเรา ส่วนปัญหาน้ำท่วม ดินถล่ม หรือพายุมรสุมต่างๆไม่มีเลย จะมีแต่น้อยมาก เราได้เปรียบในเชิงพื้นที่ ยุทธภูมิที่ตั้ง ด้วยความเหมาะสมด้านพื้นที่แล้ว เราเติมความสำเร็จให้เกษตรกรเราจะไม่ได้เชี่ยวหรือ”

เหมือนเป็นความ “น้อยเนื้อต่ำใจ” จากตัวแทนเกษตรกรในพื้นที่อีสานที่มักจะ “ถูกริดรอนสิทธิโอกาส” หลายๆด้าน แต่ด้วยเลือดนักสู้ทำให้ คุณสมศักดิ์ คุณเงิน นำทีมเดินหน้าต่อเมินประกาศพื้นที่โซนนิ่ง แม้ว่าความหวังที่เสนอเข้าไปยังภาครัฐให้ช่วยเหลือเรื่องน้ำนั้นจะน้อยนิดนักก็ตาม

จากปณิธานที่ต้องการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรในพื้นที่ให้ดีขึ้นเขายังมีโครงการรณรงค์ให้มีการ “ปลูกปาล์มน้ำมัน 1 ทศวรรษ 1 แสนไร่” เริ่มจากจังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ต้องอาศัยผู้ที่มีทุนและที่ใจกล้าที่จะบุกเบิกด้านสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่นเองก็ยังไม่หมดความอดทน พร้อมเดินหน้าตั้งเป้าส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรจังหวัดขอนแก่นปลูกให้ได้ 2 หมื่นไร่/ปี สมทบไปเรื่อยจนครบ 10 ปี ก็จะครบตามเป้าหมาย 1 แสนไร่ จากนั้นจะเริ่มดำเนินการระดมทุนตั้งโรงงาน 1 โรงงานในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น พื้นที่เป้าหมายที่เริ่มสนับสนุนปลูกจะเป็นบริเวณด้านฝั่งตะวันตกของจังหวัดขอนแก่น ประกอบไปด้วย อ.ภูเวียง ชุมแพ ภูผาม่าน สีชมพู ติดไปทาง จ.เลย จ.หนองบัวลำภู และ ติดพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เพราะอยู่ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์

“จังหวัดขอนแก่มีพื้นที่ปลูกน้อยมาก ผมกำลังรณรงค์ที่จะส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมัน 1 ทศวรรษ 1 แสนไร่ ขอเพียงเท่านี้ให้มันเกิดขึ้นให้ได้ แม้ว่ามาสะดุดเรื่องของโซนิ่งและแม้ว่าจะทำให้ผมดำเนินการไม่ค่อยออก เพราะจะส่งเสริมไปอย่างไร สินเชื่อก็ไม่มี นโยบายจากรัฐก็ห้าม เพราะฉะนั้นจึงเหลือแต่คนที่ใจกล้า กล้าสู้ กล้าที่จะบุกเบิก แต่ผมไม่ยอมแพ้หรอกยังรณรงค์ให้มีการปลูกปาล์มน้ำมัน 1 ทศวรรษ 1 แสนไร่ โดยแบ่งทยอยปลูกไปปีละ 2 หมื่นไร่ แล้วเรามีแผนจะสร้างโรงหีบ ส่วนตัวได้ทดลองปลูกไว้ 40 ไร่ และปีหน้าก็จะปลูกเพิ่มอีกเพื่อทดสอบศักดิ์ภาพพื้นที่ หากเราคิดเพียงครึ่งของผลผลิตนำมาเป็นพลังงาน ใช้เฉพาะเครื่องจักรกลหนักทางภาคเกษตร สิ่งเหล่านี้ก็สามารถดูซับพลังงานที่ได้จากผลผลิตทางการเกษตรได้เยอะแล้ว เป็นการสงวนเงินตราไว้หมุนเวียนใช้ภายในประเทศมากยิ่งขึ้นด้วย”

อ้างอิงข้อมูลจากงาน “เปิดบ้านงานวิจัยปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจพื้นที่พบว่าปาล์มน้ำมันสามารถปลูกได้แน่นอนในภาคอีสาน แต่ปลูกได้ในพื้นที่ที่เหมาะสมซึ่งได้มีการสำรวจแล้วว่ามีพื้นที่ใดบ้าง ทั้งนี้เกษตรกรคนใดที่มีความประสงค์จะปลูกจะต้องผ่านการวิเคราะห์ความเหมาะสมพื้นที่เป็นรายแปลงก่อน เพราะมันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของแหล่งน้ำ สภาพดิน สายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ และ การบริหารจัดการที่ถูกต้อง



ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรจะได้รับการตรวจวิเคราะห์แปลงและได้รับการอบรมจนเกิดความรู้ความเข้าใจก่อนลงมือปลูกเนื่องจากปาล์มน้ำมันเป็นพืชชนิดใหม่สำหรับอีสาน แต่เกษตรกรเองก็มีความใฝ่รู้ และตื่นตัวในการศึกษาข้อมูลต่างๆ เพราะเขามองเห็นว่าผลตอบแทนที่ได้นั้นคุ้มค่าและยั่งยืนเพียงใด แม้ว่าจะมีบ้างที่จะตกเป็นเหยื่อพ่อค้า แม่ค้าหัวใสเก็บลูกใต้โคนมาเพาะแล้วนำมาขายในภาคอีสาน

“ณ วันนี้ถ้าหากว่าเราไม่ได้ดูประเทศข้างเคียงว่าเขาดำเนินไปอย่างไรก็จะเสียโอกาส ในขณะที่รัฐบาลประกาศนโยบายบอกว่าภายใน 10 ปีนี้จะต้องใช้พลังงานทดแทน 25% แทนพลังงานที่ได้มาจากฟอสซิล ถามว่านับจากวันประกาศนโยบายมาจนถึงปีนี้ ซึ่ง 2 ปีมาแล้ว ได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง ได้เพิ่มอีกกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ยังไม่เห็น แล้วยังมาประกาศบอกว่าอีสานไม่เหมาะที่จะปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะเป็นพื้นที่แล้งน้ำ ถามว่าเมื่อประกาศมาอย่างนี้ คนที่เขาปลูกปาล์มน้ำมันไปแล้วอยู่ทั่วภาคอีสาน ณ ปัจจุบัน 4-5 แสนไร่ จะให้เขารู้สึกอย่างไร เขาจะรู้สึกว่ารัฐบาลรังแกเขาไหมผมฝากให้คิดกันเท่านี้ครับ” สมศักดิ์ คุณเงิน ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดขอนแก่นฝากทิ้งท้าย

ข้อมูลจากพืชพลังงาน ฉบับที่ 64