Translate

วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ปาล์มน้ำมันอีสานกำลังมาแรง!!..จริงหรือไม่ ??

เรื่อง/ภาพ : พยัคฆ์ทมิฬ




แม้ว่ารัฐบาลจะยังไม่ได้ผลักดัน ส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานปลูกพืชพลังงานทดแทน “ปาล์มน้ำมัน” อย่างเป็นรูปธรรมเหมือนกับโครงการ “ยางพารา” ล้านไร่ก็ตาม

        แต่จากสถานการณ์ของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานจำนวนไม่น้อยหันมาปลูกปาล์มน้ำมันมากยิ่งขึ้นกว่าแสนไร่ แม้ว่าในบางพื้นที่จะมีสภาพแห้งแล้ง ไม่มีศักยภาพที่เหมาะสมต่อการปลูกก็ตาม

การปลูก ปาล์มน้ำมัน ในภาคอีสานมีนักวิชาการหลากคนได้ “วิพากษ์” กันไว้ว่า “ไม่มีทางเป็นไปได้” เพียงเพราะเหตุผลเดียวคือ ภาคอีสานมีปริมาณ “น้ำ และ ความชื้น” ไม่เพียงพอ

ภาคอีสานถูก “ปรามาส” ว่าเป็นดินแดนแห้งแล้ง มีปริมาณน้ำฝนน้อย หากแต่สิ่งที่ซ้อนเลนอยู่ในดินแดนแห่งนี้กลับทำให้หลายพื้นที่ภาคอีสานปลูกปาล์มน้ำมันได้อย่างสบาย นั่นหมายถึงพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งเขื่อน และแม่น้ำนั่นเอง

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2556 ผู้เขียนได้มีโอกาสได้พูดคุยของความรู้จาก คุณโชติ ธนศรีทรัพย์ (วทบ.NAU)  นักวิชาการควบคุมแปลงเพาะ และ แปลงปลูกปาล์มน้ำมันหลายๆแห่งในพื้นที่ภาคอีสาน และ เหนือตอนล่าง ล่าสุดเขาได้สร้างผลงานให้เป็นกรณีศึกษาแก่หลายๆคนที่ยังมองว่าปาล์มน้ำมันปลูกในภาคอีสานไม่ได้ ในพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ที่ ต.วังยาง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ถูกเนรมิตให้เป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่ และปัจจุบันกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
เมื่อพูดถึงปาล์มน้ำมันแทบทุกคนก็คิดถึงแต่ภาคใต้ หากพูดถึงภาคอีสาน หรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย คำแรก ๆที่น่าจะคิดได้ เช่น ทุ่งกุลา อีสานเขียว แม่น้ำโขง ข้าวหอม มีน้อยนักที่จะพูดถึง ปาล์มน้ำมัน 

อีสาน พื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลของประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมามีแต่ความแห้งแล้ง แต่ปัจจุบันถนนแทบทุกสายมุ่งไปที่ อีสาน ทั้งการเน้นปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสินค้าเกษตรอื่นๆ  อีกมากมาย

ปาล์มน้ำมันในอดีตพืชชนิดนี้จะให้ผลผลิตดีที่สุดจำเป็นต้องปลูกในพื้นที่ที่มีฝนตกชุก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ เพราะมีความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสม แต่ปัจจุบันนี้เราสามารถปลูก ปาล์มน้ำมัน ได้ผลดีเกือบทุกพื้นที่โดยเฉพาะที่ลุ่มหรืออยู่ใกล้ๆ แหล่งน้ำ

ปาล์มน้ำมัน กับ อีสาน จะเหมาะสมกันหรือไม่ ? 

ปัญหาที่ถูกหยิบยกมาอ้างว่าไม่สามารถปลูกเชิงการค้าในภาคอีสานได้ คือ ปัญหาเรื่องน้ำสภาพความแห้งแล้งยังเป็นปัญหาหลัก ต่อมาคือ ปัญหาเรื่องโรงงานที่รับซื้อผลผลิต ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่แถวๆ ภาคใต้ และภาคตะวันออก ไม่เพียงเท่านั้นยังมีปัญหาอีกส่วนหนึ่ง ที่น่าเป็นห่วงคือ  เกษตรกรในพื้นที่มักปลูกตาม ๆกันโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลให้ครบทุกด้าน ไม่ว่าจะการปลูก การดูแล การการตลาด และข้อมูลอื่น ๆ ทำให้เกษตรกรในอีสานขาดโอกาสที่จะได้กำไรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ต่อมาวันที่ 18 เมษายน 2556 ผู้เขียนได้เดินทางมุ่งหน้าไปยัง อ.ภูเรือ จ.เลย เพื่อพิสูจน์ให้เห็นกับตาว่าเขาปลูกปาล์มน้ำมัน และให้ผลผลิตจริงหรือไม่ และสิ่งที่ได้พบคือปาล์มน้ำมันที่ปลูกไว้บนภูเขาสามารถให้ผลผลิตทั้งๆที่ไม่ได้รับการดูแลจัดการที่ดีเลย ตลอดทั้งวันคุณโชติได้พาลาดตระเวนดูแปลงปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ ไม่น่าเชื่อว่าในพื้นที่เช่นนี้ปาล์มน้ำมันจะสามารถเจริญเติบโตจนให้ผลผลิตได้ ช่วงเย็นของวันนั้นผู้เขียนจึงได้นั่งซักถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องราวต่างๆในการปลูกปาล์มบนที่ราบสูงเช่นนี้

โครงการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันบนที่ราบสูง

คุณโชติได้ดำเนิน การส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันบนที่ราบสูง ซึ่งเกษตรกรบนที่ราบสูงของ จ.เลย มีการปลูกพืชหรือทำไร่เลื่อนลอย บุกล้างถางป่า ทำให้พื้นที่ป่าหายไปเรื่อยๆ ทุกวันโดยมามีการปลูกเพิ่ม เกษตรกรบางราย ก็ปลูกยางพาราบนพื้นที่ความสูงตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไปบางรายก็ไม่ได้ผล บางรายก็ได้ผล ถือว่ามีความเสี่ยงเพราะมีเกษตรกรบางรายนำสายพันธุ์ไม่ดีขึ้นมาปลูก เช่น พวกยางตาสอย

การส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันบนพื้นที่ราบสูงปัจจุบันดำเนินมาได้ 2 ปีกว่าแล้ว สำหรับสายพันธุ์ที่นำมาปลูกเป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย พันธุ์ CHEMARA RUBI DxP, TENERA DxP และ YANGAMBI PREMIUM ST. ซึ่งตอนนี้ได้ให้ผลผลิตแล้ว

ข้อแตกต่างของทั้ง 3 สายพันธุ์นี้เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นแล้วพบว่าสามารถมีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีกว่า สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ยกตัวอย่างแปลงที่ไปดูมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตรประกอบกับไม่มีการดูแลจัดการที่ดี การให้น้ำก็ไม่มี แต่ปรากฏว่าเมื่ออายุได้ 2 ปีกว่าก็เริ่มออกทะลายให้เห็นนั้นแสดงว่าในพื้นที่ความสูงระดับน้ำทะเล 500-900 เมตรสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้

“สายพันธุ์ดังกล่าว ทางใต้ก็มีคนนำมาปลูกแล้วให้ผลผลิตแล้ว ไม่ใช้จะเป็นพันธุ์ใหม่อะไร หากแต่ไม่มีใครจะกล่าวถึงมากเท่านั้นเอง สำหรับทางภาคอีสานก็มีคนนำมาปลูกแล้ว อายุเฉลี่ย 5-8 ปีให้ผลผลิตแล้วทะลายดก ใหญ่ ลำต้นสมบูรณ์ แหล่งที่มาของสายพันธุ์คือประเทศมาเลเซีย เข้าใจอยู่ว่าเขามีกฎหมายห้ามนำออกเมล็ดพันธุ์ปาล์มจากประเทศมาเลเซีย แต่ผู้ผลิตเขาผลิตแล้วเขาก็ต้องอยากขาย บ้านเราก็ไม่ได้มีกฎหมายห้ามนำเข้า

ส่วนกระบวนการนำเขาทำอย่างไรนั้นเราก็แล้วแต่เขา ผมเองก็เคยเข้าไปดูงานที่มาเลเซียอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งในฐานะนักวิชาการ สายพันธุ์ที่บอกไปข้างต้นมีความสารถในการเจริญเติบโตที่ดีในสภาพแห้งแล้ง ให้ผลผลิตดี ผมมองแม้ว่าทางภาคอีสานจะเสียเปรียบในเรื่องของปริมาณน้ำฝน แต่เราสามารถสร้างได้ด้วยการสร้างแหล่งน้ำ การรักษาความชื้น เป็นต้น สำหรับเรื่องของปริมาณแสงแดง ที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมัน ภาคอีสานจะค่อนข้างได้เปรียบอย่างมาก เพราะฉะนั้นหากเรามีการจัดการเรื่องน้ำได้ ผลผลิตที่จะได้เราไม่แพ้ทางภาคใต้แน่ อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้ผลผลิตที่เกษตรกรได้ก็ถือว่าเป็นที่น่าพึงพอใจอยู่เช่นกัน”

ปล่อยระบบสินเชื่อเพื่อให้เกษตรกรที่มีทุนน้อยได้มีโอกาสประกอบอาชีพ สร้างรายได้

                จากที่คุณโชติได้คลุกคลีอยู่ในพื้นที่มาเป็นระยะเวลานานทำให้ทราบเรื่องราวต่างๆในการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งนี้เขาบอกว่าเกษตรกรมีความตื่นตัวอย่างมากในการปลูกปาล์มน้ำมัน บางรายก็ปลูกทั้งๆที่ไม่มีความรู้อะไรเลย นั่นถือว่าเป็นการเสี่ยงอย่างมาก ต่อมาจึงได้ปรึกษาหารือกับทีมงานฝ่ายต่างๆว่าจะต้องดำเนินการอะไรสักอย่างเพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้ที่ถูกต้องก่อนลงมือปลูก อีกทั้งสามารถปลูกได้ทุกคนที่มีความตั้งใจแน่วแน่แม้ตุนทุนมีน้อย

“ปีนี้เราได้ขยายพันธุ์ภายใต้โครงการไปประมาณ 1 แสนต้น เพราะฉะนั้นในปริมาณ 1 แสนต้นนี้เกษตรกรยังมีความเหลื่อมล้ำในเรื่องของต้นทุน บางคนไม่มีทุน ไม่มีกำลังในการปลูกปาล์มน้ำมัน แต่มีความต้องการที่จะปลูก ทาง บจก.กรีนเอิกธ์ฯ และ ภูเรือปาล์มน้ำมัน ได้มีมีการประชุมหารือกันว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรในพื้นที่สมารถปลูกปาล์มน้ำมันกันได้ ไม่นานก็ได้มีโครงการ “สินเชื่อ” ขึ้นมา หลักการคือให้เกษตรกรที่มีความประสงค์จะปลูกปาล์มน้ำมันเข้าร่วมโครงการและประสานงานแบ่งชำระเป็น 3 งวด”

อย่างไรก็ตามก่อนที่เกษตรกรจะได้ลงมือปลูกปาล์มน้ำมัน ทางศูนย์จะมีการอบรมให้ความรู้กับเกษตรกร อีกทั้งลงตรวจสอบพื้นที่ให้ก่อนเพื่อเช็คสภาพแปลงว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด ถ้าพบว่าเป็นพื้นที่ ที่ไม่เหมาะสมเช่น มีความลาดชันเกินไป ทำให้ไม่สะดวกในการดูแลรักษา ไม่สะดวกอย่างมากในการจัดการต่างๆ เป็นพื้นที่อยู่ในจุดที่กระแสนลมพัดผ่านรุนแรงอยู่ตลอด บางพื้นที่สภาพดินแย่ หรือฉ่ำน้ำอยู่ตลอดเวลา เราก็จะไม่สนับสนุนให้ปลูก จากที่ยกตัวอย่างมานั้นหากนำปาล์มไปปลูกอาจจะได้รับความเสียหายมากกว่าที่จะได้รับผลผลิต และรายได้

ฉะนั้นหาก แปลงที่เกษตรกรจะไปปลูกนั่นไม่แน่ใจว่าจะสามารถปลูกได้หรือไม่ ก็ให้ทำการแจ้งมาที่ศูนย์ จากนั้นทางศูนย์จะจัดทีมงานไปดูพื้นที่ให้ พร้อมทั้งตรวจวิเคราะห์ดินว่ามีธาตุอาหารในดินเท่าไร หากเมื่อแปลงมีความเหมาะสมแล้วก็จะทำการอบรมเกษตรกรตั้งแต่การเตรียมแปลง การวัดแนวปลูก ขุดหลุมปลูก การปลูก การดูแลรักษา ตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลผลิต มีการลงพื้นที่ศึกษาจริงในบางส่วนที่สามารถทำได้ เช่นการดูการวางแนวปลูก เป็นต้น หลังจากนั้นเราจึงจะปล่อยให้ไปจัดการแปลงของตนเอง

“เกษตรกรมีความตื่นตัวเป็นอย่างมากในเรื่องของการปลูกปาล์มน้ำมันบนที่ราบสูง แต่บางรายก็ต้องผิดหวังเพราะสภาพพื้นที่ของตนเองไม่เหมาะสม เขาอยากทำแต่ก็ไม่สามารถทำได้ เราก็ไม่อยากให้เขาเสี่ยง ในพื้นที่ อ.ภูเรือมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 800-1600/ปี ถ้ามองว่ามันน้อยก็น้อยนะสำหรับในการปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะฉะนั้นเราจะแนะนำ อบรบให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับการรักษาความชื้นในดินด้วยการปลูกวัชพืชคลุมดิน”

สำหรับการแบ่งชำระที่แบ่งชำระเป็น 3 งวด สมมติต้นกล้าปาล์มน้ำมันราคาต้นละ 120 บาท คือ 
งวดที่ 1 หรือ ในปีแรกให้เกษตรกรที่มีความประสงค์ที่จะปลูกปาล์มน้ำมันเข้ามาลงชื่อจองต้นกล้าปาล์มพร้อมจ่ายเงินมันจำจำนวน 10 บาท/ต้น (ปลูกไร่ละ 28 ต้น เฉลี่ยต้นทุน/ไร่เรื่องต้นกล้าปาล์มอยู่ที่ 280 บาท) หลังจากมีการจองเรียบร้อยแล้วให้เกษตรกกลับไปเตรียมแปลงปลูกของตนเองเพื่อให้พร้อมสำหรับปลูก

งวดที่ 2 วันมารับต้นกล้าปาล์มน้ำมันให้เกษตรกรนำเงินมาชำระอีก 50 บาท/ต้น เสร็จแล้วเกษตรกรก็นำต้นกล้าที่สั่งจองไว้ไปปลูกในพื้นที่ของตนได้เลย

งวดที่ 3 เป็นการชำระครั้งสุดท้ายซึ่งในงวดนี้เราจะให้เกษตรกรมาชำระก็ต่อเมื่อสามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้แล้วโดยจะชำระเป็นเงิน หรือ เป็นผลผลิตผลิตก็ได้ ซึ่งจะประเมินราคาของผลผลิตตามจริง

“ทุกปีที่ผ่านมากเราจำหน่ายต้นกล้าเป็นเงินสด ความเดือนร้อนของเกษตรกรก็เกิดขึ้น เพราะบางรายอยากปลูกแต่เงินทุนไม่ค่อยมี เราจึงเริ่มโครงการสินเชื่อเป็นปีแรกเมื่อปี 2554/55 มียอดสั่งจองต้นกล้าแบบสินเชื่อประมาณ 7 หมื่นต้น และ สั่งจองแบบเงินสดอีก 3 หมื่นต้น ซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเลย จะเห็นได้ว่าอาจจะยังไม่มากเพราะทางศูนย์ยังไม่มีการทำประชาสัมพันธ์ เนื่องจากต้องการดูแลติดตามผลงานของสมาชิกให้ทั่วถึงเสียก่อน”

“เกษตรกรเขาทราบดีว่าการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่สูงเช่นนี้มีความเสี่ยง เพราะภูมิประเทศต่างจากภาคใต้อย่างมาก อีกทั้งกระแสจากนักวิชาการบางส่วนได้บอกไว้ว่าไม่สามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้ จึงไม่มีการสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ปลูก แต่หลังจากเกษตรกรบางรายปลูกไปแล้วกลับมีผลผลิต ลำต้นอุดมสมบูรณ์ทะลายใหญ่ จึงสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรรายอื่นๆได้อย่างมาก”

นอกจากนี้ทางศูนย์ร่วมกับ บริษัท กรีน เอิกธ์ ดีเวลล้อปเม้น จำกัด ยังมีปุ๋ยคุณภาพ ราคาถูก มาบริการเกษตรกรที่เป็นสมาชิกอีกด้วยเพื่อให้เกษตรกรมั่นใจว่าปุ๋ยที่ได้จากเราไปเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารของปาล์มน้ำมันที่เหมาะสมช่วยให้สะรีระของต้นดี มีธาตุอาหารที่ต้องการของปาล์มน้ำมันอย่างครบถ้วน

สำหรับในกรณีที่ปลูกแล้วไม่มีผลผลิตคุณโชติให้เหตุผลว่ามันอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยหลายอย่างประกอบกันเช่น สายพันธุ์ ปลูกในพื้นที่ดินไม่เหมาะสม หรือปลูกไม่ถูกวิธี ประการสุดท้าย การจัดการไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการการให้น้ำ ให้ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช เป็นต้น

“เราเริ่มกระจายพันธุ์ไปในพื้นที่ในปี 2555/56 จะมีอยู่หลายอำเภอที่นำสายพันธุ์เราไปปลูกเช่น อ.นาด้วง อ.เอราวรรณ อ.ผาขาว อ.วังสะพุง อ.ภูกระดึง หนองหิน และ อ.เมือง ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจที่ทำให้เกษตรกรบนที่ราบสูงได้มีรายได้จากปาล์มน้ำมัน อย่างที่บอกในตอนต้น ที่เกษตรกรในพื้นที่ราบสูงนอกจากยางพารามาปลูกแล้ว ยังมีการปลูกข้าว ข้าวโพด ขิง มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ไม่ค่อยยั่งยืน แต่เมื่อเปลี่ยนมาปลูกปาล์มน้ำมันที่เป็นพืชอาหาร และพืชพลังงาน สามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ไม่ต้องเริ่มลงทุนทำเกษตรใหม่ทุกๆปี นอกจากนั้นยังช่วยในเรื่องของการสร้างป่า สร้างสิ่งแวดล้อมด้วย พื้นที่จากที่เป็นภูเขาหัวโลนก็จะกลับมามีความชุ่มชื่น

เตรียมจัดตั้งสมาคมฯ เพื่อระดมทุนสร้างโรงหีบรองรับผลผลิตของสมาชิกในอนาคต

คุณโชติเผยว่าในอนาคตข้องหน้ามีโครงการจัดตั้งโรงงานเพื่อรองรับผลผลิตของสมาชิกเป็นคอนแทร็คฟาร์มมิ้งกับเรา คนที่เป็นสมาชิกจะมีหุ้นในโรงงานหีบที่เราทำขึ้น โรงงานจะสร้างขึ้นในนามของ “สมาคมผู้ปลูกปาล์มน้ำมันบนพื้นที่ราบสูง” ซึ่ง ณ ปัจจุบันเรากำลังดำเนินการในการจัดตั้งกลุ่มอยู่ เมื่อมีโรงหีบเองแล้วเกษตรกรก็จะสามารถกำหนดรายการเองได้เพราะเขาจะได้รู้กระบวนการ และการตัดปาล์มอย่างไรจึงทำให้ได้น้ำมันปาล์มที่มีคุณภาพ อีกทั้งสมาชิกทุกคนยังจะได้เงินปันผลทุกสิ้นปีอีกด้วย

สิ่งทีคุณโชติดำเนินการมาล้วนแต่เป็นการศึกษาข้อมูลจากการลงพื้นที่เองมานานหลายปี ทั้งเรื่องของสภาพอากาศ สภาพพื้นดิน เขาจึงกล้าพูดได้ว่าในพื้นที่ราบสูง และภาคอีสานสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้ นอกจากนี้เขายังบอกอีกว่า “บนภูเขาสูงจริงอยู่ที่ค่อนข้างจะหาแหล่งน้ำได้ยาก หากแต่น้ำซับใต้ดินมีเพียงพอให้ปาล์มน้ำมันได้ใช้หล่อเลี้ยงต้นได้ตลอดทั้งปี ซึ่งเห็นได้จากแปลงที่ไปดู”
ท่านใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อสอบถามเข้าไปได้ที่ คุณโชติ ธนศรีทรัพย์ (วทบ.NAU)  นักวิชาการควบคุมแปลงเพาะ โทร.08-1662-0972