Translate

วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

กลยุทธ์การลงทุนระบบน้ำในสวนปาล์มสู้วิกฤติภัยแล้ง..!!

เรียบเรียง : พยัคฆ์ทมิฬ



ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ รวมถึงการช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และด้านพลังงานของ ประเทศ ปัจจุบัน แม้ว่าไทยจะสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศในด้านต่างๆ แต่จากโครงสร้างการผลิตที่ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้การผลิตน้ำมันปาล์มของไทยมีต้นทุนที่สูงกว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทย

ต้นทุกหลักส่วนใหญ่จะจมอยู่กับการจัดการส่วยไม่ว่าจะเป็นปัจจัยการผลิตปุ๋ย ยา แต่ที่จะขาดไม่ได้เลยนั้นคือ “ระบบน้ำ” ปัจจัยเสี่ยงที่กำหนดชะตากรรมผู้ผลิตได้อย่างชัดเจน

 ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่มีความต้องการน้ำ ต่อต้นต่อปีในปริมาณมาก ดังนั้นต้องย้ำเตือนเกษตรกรที่มีแนวคิดจะปลูกปาล์มน้ำมันว่า ควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ และลักษณะนิสัยของปาล์มน้ำมันให้ดี เพราะพืชชนิดนี้ชอบน้ำมาก แต่ถ้าขาดน้ำหรือได้น้ำไม่เพียงพอจะส่งผลให้ไม่ติดทลาย เป็นทะลายตัวผู้ทำให้ขาดทุนได้

        เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน กรอปกับปัญหาด้านภัยแล้งกำลังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหลายๆสายงานอาชีพ โดยเฉพาะชาวสวนปาล์มน้ำมันในโซลอีสานที่มีปริมาณน้ำฝนรวมถึงแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรค่อนข้างน้อย

สำหรับเนื่องหาในฉบับนี้ผู้เขียนได้เปิดพื้นที่นำเสนอเรื่อง “กลยุทธ์การลงทุนระบบน้ำในสวนปาล์มน้ำมัน” ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ด้านข้อมูลจากผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานาน

คุณอนวัช  สะเดาทอง ได้อนุเคราะห์ด้านข้อมูลด้านระบบน้ำในสวนปาล์มน้ำมันเพื่อให้เราได้ศึกษาและเป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อตั้งรับภัยแล้งที่กำลังเป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้

คุณอนวัชให้ข้อมูลว่าโดยธรรมชาติของปาล์มน้ำมันจะเจริญเติบโตได้ดี ให้ผลผลิตสูงขึ้นอยู่กับศักยภาพของสายพันธุ์และโดนพื้นฐานตัวเลขทางวิชาการปาล์มน้ำมันต้องการน้ำเฉลี่ยประมาณ 1,800 – 2,000 มม./ปี ทั้งนี้โฟกัสไปที่เขตภาคอีสานและบอกว่าตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี มีปริมาณน้ำฝนที่มากเฉลี่ย 2,000 มม./ปีขึ้นไปเช่นกัน หากแต่การกระจายตัวของฝนยังคงไม่มากมาก และมีช่วงแล้งอยู่ประมาณ 6 เดือน

สำหรับในช่วงหน้าแล้งจะน่าเป็นห่วงสำหรับแปลงที่ไม่มีการวางระบบน้ำ หรือ ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งน้ำซึ่งจะส่งผลให้ปาล์มเล็กจะมีอาการเฉา การเจริญเติบโตชะงัก  ส่วนปาล์มที่โตแล้วหรือที่กำลังให้ผลผลิต จะส่งผลให้ขาดคอได้ เกสรจะเป็นตัวผู้ หรือ ตัวเมียออกมาจะฝ่อ เพราะฉะนั้นหากมีการสร้างแหล่งน้ำ วางระบบน้ำ การติดตั้งไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำหยด หรือ สปริงเกลอร์ก็ทำให้ต้นปาล์มได้น้ำที่เพียงพอออกช่อดอกได้แข็งแรง ผลผลิตปาล์มสดเพิ่มขึ้นกว่า 15- 30 %
   
“ตัวเลขตามหลักวิชาการเขาบอกว่าปาล์มน้ำหากได้รับน้ำที่เพียงพอจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมากว่า 30% และเปอร์เซ็นต์น้ำมันก็จะเพิ่มขึ้นมาอีก 30% เช่นกัน โดยเฉพาะเขตภาคอีสาน ถ้าแล้งมากก็ส่งผลกระทบถึงผลผลิตอย่างที่บอกมาเช่นกัน วิธีการจัดการก็คือ หลังจากเก็บผลผลิตไปก็จะต้องทำความสะอาดแปลง มีวัสดุคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นในดิน อย่างนี้ครับจะช่วยได้”

คุณอนวัชกล่าวต่อว่า สำหรับการลงทุนระบบน้ำ เกษตรกรควรมีความพร้อมในด้านแหล่งน้ำ และไฟฟ้า หรือใช้เครื่องยนต์เพื่อที่จะได้ดำเนินการในการดึงน้ำจากแหล่งน้ำขึ้นมาใช้ได้ อุปกรณ์ของระบบน้ำมันก็จะประกอบไปด้วยมอเตอร์ปั๊มน้ำ ท่อเมน ข้อต่อ หัวสปริงเกลอร์ต่างๆ ถ้าเป็นน้ำหยดก็จะมีสายน้ำหยด และจำเป็นต้องมีตัวกรองด้วย

สำหรับการลงทุนติดตั้งในสวนปาล์มน้ำมันนั้นต้นทุนประมาณไร่ละ 6,500-7,000 บาท ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ แหล่งน้ำ ขนาดพื้นที่ ซึ่งเป็นราคาที่รวมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ค่าติดตั้ง ค่าออกแบบ ค่าอุปกรณ์ ทั้งนี้อยู่ที่สภาพพื้นที่ดังที่กล่าวไว้ด้วย เช่น หากเป็นเนินเขาราคาจะเพิ่มขึ้น เพราะต้องใช้อุปกรณ์ที่พิเศษขึ้น อาทิ ใช้ท่อที่หนาขึ้น กำลังปั๊มมากขึ้น ในกรณีที่หากสภาพแปลงเป็นสี่เหลี่ยมธรรมดาต้นทุนถูกลงเพราะปั๊มจ่ายน้ำได้ระยะสั้น แต่เฉลี่ยแล้วเต็มที่ประมาณ 7,000 บาท

“เรื่องการวางระบบน้ำเกษตรกรสามารทำได้และจุดคุ้มทุนเท่าที่เคยวิเคราะห์ ตัวอย่างง่ายๆสมมติว่าถ้าปาล์มขาดน้ำ 5 เดือน ช่วงที่ออกทะลายอาจจะได้ผลผลิตแค่ 50% แต่ถ้าเราเพิ่มความชื้นให้ ปาล์มน้ำมันจะออกมาได้ทุกทะลาย เราคิดง่ายๆปาล์มโตเต็มที่ เช่น อายุประมาณ 5-7 ปี น้ำหนักทะลายละ 20 กิโลกรัม เราเก็บผลผลิตคิดเป็นอย่างต่ำได้มา 5 ทะลาย/ต้น x 20 กก.(น้ำหนักต่อทะลาย) ได้ผลผลิต 100 กิโลกรัม/ต้น ราคาซื้อขายเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.50 บาท ก็ได้มา 350 บาท/ต้น หนึ่งไร่ปลูกปาล์ม 22 ต้นคูณด้วย 350 (ราคาที่ได้ต่อต้น) ก็จะได้เงินจำนวน 7,700 บาท/ไร่ แล้วนำมาเทียบว่าเราได้ทุนคืนมาหรือยังแต่ผมว่าประมาณ 1.5-2 ปี เราก็คุ้มทุนแล้วปีต่อไปก็มีแต่กำไรแล้ว”

จากการลงพื้นที่ของคุณอนวัช เขาบอกว่าส่วนใหญ่เกษตรกรจะเลือกวางระบบน้ำแบบต้นทุนต่ำสุด และแนะนำว่า “การว่างระบบน้ำแบบน้ำหยดจะเหมาะที่สุด” การชำรุดเสียหายก็แทบไม่มี หรือมีน้อยมาก

“หัวน้ำหยดในท้องตลาดตอนนี้ราคาถูกลงเยอะ ที่ผมแนะนำให้ใช้หัวน้ำหยดก็เพราะเมื่อปาล์มน้ำมันโตขึ้นและเก็บผลผลิตได้ จากนั้นก็จะมีการเข้าไปตัดผลผลิตทุก 15 วัน สำหรับระบบน้ำที่เป็นสปริงเกลอร์ทำให้เกะกะ เมื่อทะลายล่วงลงมาอาจจะทำให้โดนและเสียหายได้ แต่ถ้าเป็นน้ำหยดมันก็จะหยดไปตามผิวดิน ทะลายปาล์มจะตกกระทบบ้าง เดินเหยียบไปบ้างมันก็ไม่มีปัญหา และที่สำคัญข้อดีของระบบน้ำหยดคือช่วยประหยัดน้ำประสิทธิภาพการจ่ายน้ำสูงสุดอยู่ที่ 95% ถ้าเป็นสปริงเกลอร์จะอยู่ที่ 85% เนื่องจากว่าเมื่อพ่นน้ำออกมาเกิดการระเหยออกไป ประสิทธิภาพก็เลยต่ำ”

คุณอนวัชได้อธิบายรูปแบบการวางระบบน้ำหยดให้ฟังว่าจะวางสายส่งน้ำไปตามแนวต้นปาล์ม  และจะติดตั้งหัวน้ำหยดไว้รอบๆใต้โคนปาล์ม  ระยะที่ต้นปาล์มยังมีขนาดทรงพุ่มเล็กอยู่ จะวางหัวน้ำหยดไว้ใกล้โคนปาล์ม เพื่อให้น้ำหยด  กระจายรอบโคนปาล์มและน้ำซึมลงไปให้เหมาะสมกับเขตรากปาล์มพอดี เมื่อต้นปาล์มมีขนาดทรงพุ่มใหญ่ขึ้น ก็สามารถขยับหรือจัดหัวน้ำหยดให้อยู่ในตำแหน่งเขตรากได้ตามความเหมาะสม เมื่อต้นปาล์มโตเต็มที่ก็สามารถปรับหัวน้ำหยดให้ห่างจากโคนปาล์มได้  หัวน้ำหยดก็จะกระจายน้ำให้กับต้นปาล์มได้ตามปกติ

ผู้เชี่ยวชาญการระบบน้ำมีทั้งระบบน้ำหยด มินิสปริงเกลอร์ และ สปริงเกลอร์ ทั้งนี้ต้นทุนไม่ได้ต่างกันมาก หากแต่การจะเลือกวางระบบน้ำให้เหมาะกับสภาพพื้นมากกว่า อย่างเช่น ที่ที่มีน้ำน้อยๆจำเป็นต้องใช้น้ำหยด และการให้น้ำหยดจะทำให้ปาล์มน้ำมันจะได้รับน้ำเต็มที่ 90-95%

สำหรับในพื้นที่ที่มีน้ำมากๆอาจจะใช้สปริงเกลอร์ก็ได้เพราะระบบสปริงเกลอร์เมื่อปล่อยน้ำหัวสปริงเกลอร์จะเหวี่ยงน้ำกระจายไปทั่วใช้ปริมาณน้ำมาก แต่ปาล์มน้ำมันอาจจะได้น้ำประมาณ 75-80% และกว่าน้ำจะซึมลงดินน้ำอาจจะสูญเสียและระเหยไปก่อน แต่ถ้าแหล่งน้ำบางแหล่งอาจมีหินปูนมากก็ไม่เหมาะที่จะใช้ระบบน้ำหยด เป็นต้น ดังนั้นเมื่อคำนวณแล้วต้นทุนไม่ได้ต่างกันมากหากแต่จะพิจารณาสภาพของแหล่งน้ำ และปริมาณน้ำนั่นเอง

นอกจากนั้นยังได้มีการ “พัฒนาเทคโนโลยีการให้ธาตุอาหารหรือให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำ” ที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่าระบบ Fertigationได้ด้วย โดยเฉพาะช่วงเนอสเซอรี่หากมีการใส่ปุ๋ยมากเกินไปแล้วให้น้ำไม่เพียงพออาจจะส่งผลให้ใบไหม้ได้ทันทีจากประสบการที่ทำมาคุอนวัชเปิดเผยว่า

“อย่างตัวเลขของราชการบอกว่าการให้ปุ๋ยปาล์มน้ำมันคือใส่ 4 ครั้ง/ปี ต้นฝน 1 ครั้ง ในฤดูฝน 2 ครั้ง และปลายฝนอีก 1 ครั้ง/ต่อต้น ปาล์มน้ำมันต้องการอาหารอยู่ตลอดเวลาสมมติใส่ปุ๋ยต้นละ 1 กิโลกรัมถ้าเราใส่ 4 ครั้งเฉลี่ยจะประมาณ 250 กรัม/ครั้ง แต่เมื่อเรามีระบบน้ำเราให้ทุกครั้งต้นปาล์มก็จะได้กินตลอดเวลา การสูญเสียปุ๋ยก็จะไม่มี ประสิทธิภาพการได้รับธาตุอาหารก็จะสูงขึ้น ปาล์มโตสม่ำเสมอ การจัดการปุ๋ยพร้อมระบบน้ำการลงทุนติดตั้งระบบน้ำหยดในสวนปาล์มน้ำมันสามารถเพิ่มผลผลิตได้ประมาณ 20% คิดง่ายๆ ถ้ามีระบบน้ำจะไม่ทำให้ทะลายปาล์มฝ่อหรือ ขาดคอ จริงๆแล้วการให้ปุ๋ยทางน้ำได้ใช้การมานานแล้วสำหรับแปลงที่มีการวางระบบน้ำหยด”




คุณอนวัชยังบอกอีกว่าส่วนใหญ่จะได้ลงพื้นที่วางระบบน้ำในเขตจังหวัดจันทบุรีค่อนข้างมาก แต่ยังไม่พบปัญหาใดๆหลังการติดต่องระบบน้ำให้เกษตรกร ยกเว้นเสียแต่เกษตรกรเองที่อาจจะพลาดไปโดนช่วงถางป่าอาจจะทำให้มีดไปโดนสายระบบน้ำทำให้สายรั่วบ้าง หรือมีหนูมากัดสายบ้าง แต่ก็สามารถซ่อมได้โดยไม่ต้องลื้อออกมาทั้งหมด นอกจากนั้นเมื่อไปติดตั้งระบบน้ำที่ไหนจะมีคู่มือเล็กๆให้เกษตรกรไว้เพื่อศึกษาการดูแลรักษา อย่างเช่น ต้องมีการล้างตัวกรองอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

“ปาล์มน้ำมันในช่วงอายุ 4 ปีขึ้นไป หากมีการให้น้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ปาล์มน้ำมัน ให้ผลผลิตทะลายเพิ่มขึ้น ช่อดอกไม่ฝ่อ น้ำหนักต่อทะลายก็เพิ่มขึ้น อีกทั้งเปอร์เซ็นต์น้ำมันยังเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันจึงเท่ากับว่าการวางระบบน้ำทำให้ปาล์มน้ำมันมีการเจริญเติบโตที่ต่อเนื่อง ส่งผลเพิ่มผลผลิตสม่ำเสมอ หรืออาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20% เพราะว่าปาล์มน้ำมันถ้าขาดน้ำติดต่อกันเกิน 2 เดือนจะทำให้ผลผลิตปาล์มลดลง ที่สำคัญของการติดตั้งระบบน้ำ คือ สามารถชดเชยการขาดน้ำช่วงฝนแล้งเป็นการป้องกันและลดการเสียหายของผลผลิตปาล์มน้ำมัน

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งเขาก็มีข้อแนะนำเกษตรกรในเบื้องต้นว่า หากเกษตรกรมีความต้องการที่จะปลูกปาล์มน้ำมันโดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคอีสานควรศึกษาถึงศักยภาพพื้นที่ก่อน เช่น มีแหล่งน้ำหรือไม่ นั่นก็เพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงที่ว่าปาล์มจะได้น้ำที่สม่ำเสมอ ควรมีการวางต้นทุนด้านระบบน้ำเพิ่มเข้าไปด้วย หรือถ้าในพื้นที่ที่มีน้ำใต้ดินสูงก็ยังพอสามารถที่จะทำได้ ภาคอีสานในสายตาหลายคนที่มองยังคงมองว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง แรกๆที่ปลูกยางพารายังคงอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำฝน แต่ช่วงหลังทุกคนปลูกยางพาราก็ต้องวางระบบน้ำหยดเหมือนกันเพื่อให้ยางโตสม่ำเสมอ ได้น้ำยางที่ดี ซึ่งคุณอนวัชเองก็ได้เข้าไปวางระบบน้ำในสวนยางพาราเช่นกัน

“ตอนนี้ประเมิน หรือ คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนค่อนข้างยากเพราะอากาศมันแปรปรวน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ฝนคงไม่น้อยมากกว่าทุกๆปี ในเขตภาคอีสานส่วนใหญ่จะเริ่มจำหน่ายต้นกล้าปาล์มน้ำมันกันในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม แต่ในสำหรับปีนี้เท่าที่สังเกตเห็นได้มีการซื้อขายกันเกิดขึ้นบ้างแล้ว เกษตรกรมีการเตรียมตัว และรับมือกับสถานการณ์พอสมควรเนื่องจากว่า ตัวที่จะรับประกันคุณภาพและผลประกอบการได้มีเพียงอย่างเดียวคือ น้ำ ส่วนสภาพอากาศอะไรพวกนั้นก็มีบ้างหากเพียงเล็กน้อย”

“เกษตรกรที่สนใจจะปลูกปาล์มน้ำมันก็ต้องศึกษาสภาพพื้นที่ ให้เป็นที่ลุ่ม หรือที่ที่มีแหล่งน้ำ เพื่อจะได้มีการจัดสรรน้ำโดยเฉพาะในช่วงแล้งได้ดี ต่อมาคือเรื่องของสายพันธุ์ปาล์ม ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื้อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นของเอกชน หรือ ราชการรายใดก็ตาม ต้องมีใบรับรองอย่างถูกต้อง มีโลโก้ และซื่อสายพันธุ์อยู่ที่ถุงเพาะ ยกตัวอย่างในปี 2555 ที่ผ่านมาความต้องการกล้าปาล์มน้ำมันกว่าแสนต้น แต่ศูนย์วิจัยทำได้เพียง 7.5 หมื่นต้นเท่านั้นเอง จึงเป็นช่องทางให้เหล่าพ่อค้า แม่ค้าหัวใสนำต้นกล้าที่ไม่ได้คุณภาพมาจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาถูก ตรงจุดนี้ก็ควรระวัง”

เขาฝากทิ้งท้ายเกษตรกรสามารถติดตอสอบถาม หรือ ปรึกษาได้ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการใส่ปุ๋ย เทคนิคการเพิ่มผลผลิต เทคนิคการวางระบบน้ำ การดูแล  การเตรียมแปลงก่อนปลูก ได้ที่ คุณอนวัช  สะเดาทอง ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย โทร.08-1857-0811

ขอขอบคุณ
คุณอนวัช สะเดาทอง โทร.08-1857-0811 และ www.cpcrop.com