คนที่มีความรู้-ประสบการณ์ทำงานอยู่ในบริษัทต่างชาติมักจะมีความคิดและวิสัยทัศน์เป็นระบบ
อย่างเช่น คุณมนัส สวัสดิ์ชัย ร่วม 2 ทศวรรษ ที่ทำงานอยู่ในบริษัทที่เก่งด้านพลังงานไฟฟ้า
เล็งเห็นว่าเมื่อเกษียณจากงานบริษัทจะต้องมีอาชีพรองรับ ในที่สุดก็พบว่า “ปาล์มน้ำมัน” คือ พืชพลังงาน ตอบสนองการลงทุนดีกว่าพืชพลังงานตัวอื่นๆ
เพราะการดูแลไม่มาก ลงทุนครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตกว่า 20 ปี
จากนั้นก็ตระเวนดูสวนปาล์มหลายรายย่านทุ่งรังสิต
พบที่แปลงหนึ่งเป็นสวนส้มเก่า 90 ไร่ เจ้าของขายไร่ 1
แสนบาท เมื่อปี 2550 ตัดสินใจซื้อด้วยเงิน
9 ล้านบาท
ด้วยองค์ความรู้ว่าด้วยการลงทุนสวนปาล์มเชิงธุรกิจที่คุณมนัสได้เสาะหาจากสื่อต่างๆ
และจากเจ้าของสวนปาล์มทุ่งรังสิต จึงตัดสินใจจ้างรถแบคโฮปรับพื้นที่เรื่องส้มเดี่ยวหน้าแคบมาเป็นร่องคู่หน้ากว้าง
13-14 เมตร เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน โดยเฉพาะหมดเงินเพียงสี่แสนกว่าบาท
เพราะจ้างเหมาเป็นรายชั่วโมง
คุณมนัส สวัสดิ์ชัย กับ ปาล์มน้ำมันสายพันธุ์คอมแพคท์ อายุ 4 ปี |
“ผมเน้นสายพันธุ์คอมแพคท์เป็นหลักเพราะเป็นสายพันธุ์ที่พัฒนาใหม่
อะไรที่พัฒนาใหม่ต้องมีอะไรดีๆ เคยไปดูพันธุ์ลูกผสมเทเนอร่าเดิมๆ ก็เห็นว่าไม่ค่อยดก”
คุณมนัสให้ความเห็นและมั่นใจว่าคอมแพคท์ คือ สายพันธุ์มีความสามารถในการตอบสนองต่อพื้นที่และความสามารถในการให้ผลผลิต
แม้จะต้องจองต้นพันธุ์
1,250 ต้น จาก บจก.อาร์แอนดีฯ กว่า 6 เดือน แต่เมื่อได้รับคำแนะนำด้านการปลูกและดูแลรักษาจากบริษัทก็ทำให้เกิดความสำเร็จในเบื้องต้น
วันนี้คุณมนัสปลูกปาล์มพันธุ์คอมแพคท์
1,000 ต้น ราคาต้นละ 150 บาท อายุ 4 ปี ให้ผลผลิตกว่า 5 ตัน/ไร่ พันธุ์ไนจีเรีย-แบค 400 ต้น ราคาต้นละ 70 บาท
อายุ 4 ปี ให้ผลผลิต 2-3 ตัน/ไร่ พันธุ์โกลเด้นเทเนอร่า 250 ต้น ราคาต้นละ
120 บาท อายุ 3 ปี ส่วนพันธุ์ชีหราด 500
ต้น ซื้อจากบริษัท สุขสมบูรณ์ฯ ราคาต้นละ 20 บาท
อายุ 4 ปี ให้ผลผลิตไม่ถึงตัน/ไร่ คุณมนัสต้องโค่นทิ้งแล้วนำพันธุ์คอมแพคท์ของ บจก.อาร์แอนด์ดีฯ 500 ต้น ราคาส่วนลดพิเศษจาก 250 บาท เหลือ 150 บาท มาปลูกแทน
สวน 90 ไร่ ใช้ปลูกปาล์มทั้งหมดประมาณ 2,000 กว่าต้น โดยมีพันธุ์คอมแพคท์เป็นหลัก....
เรื่องพันธุ์ปาล์มเป็นเรื่องใหญ่
คุณมนัสจึงต้องฝากข้อคิดแก่ผู้ปลูกปาล์มว่า “หากเกษตรกรมองหาสายพันธุ์มาปลูกควรศึกษาถึงลักษณะของแต่ละสายพันธุ์ให้ดี
เพราะบางพันธุ์ไม่ชอบพื้นที่น้ำมาก อย่าง คอมแพคท์ ให้ผลผลิตดีในสภาพน้ำและดินย่านรังสิต”
สำหรับการบริหารจัดการสวนปาล์มของคุณมนัสก็คล้ายๆ
กับสวนปาล์มอื่นๆ ย่านรังสิต เช่น พอเข้าปลายฝนต้นหนาวเดือนพฤศจิกายนดินเริ่มแห้ง ต้องพ่นน้ำด้วยการใช้เรือวิ่งตามร่องแล้วพ่นน้ำจะทำให้ช่อดอกและทะลายออกสม่ำเสมอ
ไม่ขาดคอ หรือการหว่านปุ๋ย หรือทำรุ่น ก็ต้องแรงงานรายวัน 6-7
คน มาทำ โดยมีลูกจ้างประจำ 1 คน
ปุ๋ยเคมีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับปาล์มน้ำมัน
คุณมนัสยึดโปรแกรมการให้ปุ๋ยของบริษัท อาร์แอนดีฯ เป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับ “แม่ปุ๋ย” แต่มีข้อแม้ว่าคนงานใส่ปุ๋ยแต่ละคนจะถูกแบ่งหน้าที่ชัดเจน
เช่น นาย ก.ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 แต่นาย ข.ต้องใส่สูตร 21-0-0 เป็นต้น ส่วนปุ๋ยอินทรีย์คุณมนัสใช้ขี้ไก่เป็นหลักเพื่อปรับสภาพดินโดยใส่ปีละครั้ง
ส่วนธาตุอื่นๆ อย่าง โบรอนและโพแตสเซียมก็ต้องใช้ด้วย เพราะเป็นธาตุที่จำเป็นสำหรับปาล์มน้ำมัน
เมื่อถามถึงศัตรูปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต
คุณมนัสกล่าวว่า “เรื่องหนูไม่มีปัญหาเพราะเราไม่ปล่อยให้หญ้ารกมาก
แต่ด้วงกุหลาบมีมาก ต้องฉีดยาตอนกลางคืน 1 ทุ่ม ถึง 4
ทุ่ม ทำทุกอาทิตย์” ซึ่งการระบาดของด้วงกุหลาบส่งผลให้ใบปาล์มถูกกินเรียบเหลือแต่ก้านใบ
คุณมนัสเสียใจมากๆ ตัดสินใจสั่งซื้อยาเมทโทมิวผสมกับ อิมิดาคลอพริด ฉีดพ่นปรากฎว่าได้ผลดี
นอกจากนี้ยังมี ด้วงมะพร้าว ที่คลานมากับดินแล้วเจาะทะลุเข้าไปกินยอดอ่อน แก้ปัญหาด้วยการนำฮอร์โมนที่มีกลิ่นของด้วงตัวเมียใส่ถังดัก
เคยดักได้ถึง 4,000 ตัว ปาล์มที่ถูกด้วงมะพร้าวกินยอดอ่อนยอดจะมีอาการแห้งแดงๆ
ชัดเจน อย่างไรก็ดีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูปาล์มคุณมนัสไม่แนะนำให้ใช้ถ้ามีวิธีอื่นที่ดีกว่า
เพราะการใช้สารเคมีจะทำให้แมลงต่างๆ ที่ช่วยผสมเกสรตายไปด้วย ทางที่ดี คือ ต้องหมั่นลงแปลงเดินดูความเป็นไปในแปลงหรือความผิดปกติต่างๆ
เมื่อรู้ปัญหาจะได้แก้ไขทันท่วงที ด้วยเหตุนี้วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ คุณมนัสจึงต้องลงเดินดูแปลงทุกครั้ง
ภายในสวนจะเต็มไปด้วยแมลงวีวี่ ที่ช่วยในการผสมเกสร |
ต่อคำถามยอดฮิตปาล์มทุ่งรังสิตต้องช่วยผสมเกสร
คุณมนัสกล่าวว่าสายพันธุ์คอมแพคท์ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้ เพราะช่อดอกพันธุ์คอมแพคท์เต็มไปด้วยฝุ่นละอองเหลืองๆ
มีแมลงช่วยผสมพันธุ์เกาะอยู่
หลังปาล์มคอมแพคท์อายุ
8 เดือน มันจะออกทะลายเล็กๆ ต้องหักทิ้งเพื่อต้องการให้อาหารไปเลี้ยง
“ลำต้น” ให้ใหญ่ พออายุได้
15 เดือน จึงไว้ทะลาย ส่วน “ทางใบ” 3
ปีแรก ไม่ควรตัด ทิ้งไว้ให้มันรับแสงแดดเพื่อสังเคราะห์แสงและปรุงอาหาร
หลังจาก 3 ปี ไปแล้ว จึงตัดทางที่อยู่ข้างล่างใกล้ดินทิ้ง
เมื่อถามถึงต้นทุนในการบริหารจัดการผลผลิต
คุณมนัสกล่าวว่าค่าปุ๋ยเป็นหลัก ยิ่งปาล์มอายุมากต้องให้ปุ๋ยมาก ปาล์ม 90 ไร่ ใช้ปุ๋ยปีละ 300,000 บาท แต่ก็คุ้มค่า เพราะรอบตัดปาล์มที่ผ่านมาใช้ปุ๋ยแสนกว่าบาท
ขายปาล์ม 4 เดือน ได้เงินหกแสนกว่าบาท “จุดคุ้มทุนมันเยอะ เป็นแรงดึงดูดให้เราต้องทำ อนาคตทะลายต้องใหญ่กว่านี้อีก
ผลที่ได้ก็ต้องมากขึ้น ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตเต็มที่ ช่วง 5 ปี
ขึ้นไป เพราะฉะนั้นการลงทุนเรื่องปุ๋ยผมไม่กังวล” คุณมนัสให้ความเห็นด้วยความมั่นใจ
อย่างไรก็ดีแม้ปาล์มน้ำมันจะเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าแก่การลงทุน
แต่มิได้หมายความว่า คุณมนัสจะยอมให้ใครเอาเปรียบง่ายๆ พิสูจน์ได้จากการขายปาล์มให้ลานปาล์มของ บจก.สุขสมบูรณ์ฯ ถูกกดราคาลง 20 สตางค์/กก. เจอ 2 ครั้ง เท่ากับ 40 สตางค์/กก. ขายปาล์ม 18 ต้น ถูกตัดต้นละ
400 บาท คำตอบจากปากของคนซื้อก็คือ มันเป็นไปตามกลไกราคา มาเลเซียลงสุขสมบูรณ์ก็ต้องลง
“ผมไม่รู้ว่ามันจริงหรือไม่ เขาพูดไปเรื่อยตามที่เขาต้องการก็เลยบอกว่าไม่ไหวนะ
3 วัน โดนหนัก ตันละ 400 บาท จึงไปขายให้กลุ่มระพีพัฒน์”
คุณมนัสเปิดเผยด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ปรากฎว่าลานปาล์มระพีพัฒน์ ปาล์มทุก
10 ตัน ที่ซื้อจะคืนเงินให้ลูกค้า 500 บาท ปลายปีจ่ายเงินปันผลและไม่คิดค่าลงปาล์ม
ต่างจากลานปาล์มสุขสมบูรณ์คิดค่าลงปาล์มตันละ 100 บาท
เมื่อถามถึงราคาปาล์มที่ชาวสวนมีกำไรคุ้มค่าแก่การลงทุน
คุณมนัสฟันธงว่าควรจะอยู่ที่ 5 บาท/กก.
เป็นอย่างน้อย อย่างไรในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถกะเกณฑ์ด้านราคาซื้อขขายได้แน่นอน การเลือกสายพันธุ์ปลูกที่ดี ก็ถือว่าได้ชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
นิตยสารพืชพลังงาน ฉบับที่ 55/55